โครงสร้างอำนาจการเมืองภายใน

ปรับปรุงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เหมาะแก่ยุคสมัย เปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักโบราณขัตติยราชประเพณี และยังเป็นพระจริยวัตรตามอุดมคติ ของพระโพธิสัตว์ที่เสวยราชย์เป็นจักรพรรดิ ซึ่งทำให้ห่างเหินข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎร การรับรู้ของพระมหากษัตริย์ ในการติดตามผลงานการบริหารราชการแผ่นดินได้จากเจ้านายขุนนาง ทำให้ราษฎรไม่สามารถพึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทางด้านกระบวนการยุติธรรม แม้จะทรงเปิดโอกาสให้มีการถวายฎีกา แต่การถวายฎีกายังเป็นเรื่องยาก ถูกกีดกันกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่ข้าราชการ จึงทรงแก้ไขใหม่โดยโปรดให้เขียนฎีกาลงกระดาษ พระองค์เสด็จออกมารับที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์เดือนละ 4 ครั้ง เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ยากและพระราชทานความเป็นธรรมแก่ประชาชน พระราชกรณียกิจนี้ นอกจากจะทำให้ทรงทราบเรื่องไม่ดีไม่งามของผู้มีอิทธิพลแล้ว ยังเป็นการปรามมิให้ข้าราชการประพฤติปฏิบัติไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างได้ผล จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 จ.ศ. 1213 เลขที่ 59 เรื่องให้ราษฎรร้องทุกข์ (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 90-91) ความว่า

“... ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้ราษฎรเข้ามาร้องถวายฎีกาได้โดยง่าย ให้ทำหลักธงไชยปักขึ้นไว้ผูกเชือกห้อยขอเหล็กลงมาสำหรับเกี่ยวเรื่อง ฎีกาแขวนไว้เฉพาะหน้าพระที่นั่ง ให้ทอดพระเนตรเห็น ให้เจ้าของฎีกาหมอบอยู่ใกล้หลักนี้จะได้รู้เห็น ได้ยินเรื่องราวเองด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาดับทุกข์ราษฎรที่ร้องถวายฎีกา ข้างขึ้น 2 ครั้ง ข้างแรม 2 ครั้ง เดือนละ 4 ครั้งแล้วจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ราชบุรุษที่สัจซื่อมีสติปัญญาผู้ใดหนึ่ง อ่านเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายแต่ในเวลานั้น จะได้ไปโปรดเกล้าฯให้มีตระลาการชำระให้แล้วโดยเร็ว อนึ่งราษฎรที่มีคติได้รับความเดือดร้อนประการใดๆ จะถวายฎีกากล่าวโทษผู้กระทำผิดผู้ใดผู้หนึ่ง ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ฤาจะสมัครขึ้นไปร้องถวายฎีกา ในพระบาทสมเด็จพระบวรปิ่นเกล้าฯ ก็ตามเถิด ด้วยเหตุว่าโจทก์ จำเลยก็อยู่เป็นไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินแห่งเดียวกัน ... ”

หน้า 4 จากทั้งหมด 17 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17