โปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนทำมาหาเลี้ยงชีพให้เป็นหลักเป็นฐาน เมื่อเปิดระบบการค้าเสรี ให้นำข้าวส่งออกได้โดยทรงลดค่านาคู่โคหรือนาหว่าน ซึ่งให้ผลผลิตมากกว่านาชนิดอื่น และเสียค่านามากกว่านาปักหรือนาฟางลอย ซึ่งเสียค่านาตามผลผลิตที่ได้ ระหว่างที่ราษฎรยังใหม่ต่อระบบการค้าเสรี พระองค์ทรงทำหน้าที่ควบคุมการผลิตและการค้าข้าว ทรงยึดหลักให้ภายในประเทศมีข้าวบริโภคอย่างพอเพียง แล้วจึงส่งขายต่างประเทศ ทรงตักเตือนราษฎรล่วงหน้าถึงสภาพดินฟ้าอากาศ โดยผ่านประกาศต่าง ๆ และทรงแนะนำให้ราษฎรทำนาตามช่วงเวลาที่กำหนดให้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเกษตรแก่ราษฎร ดังจะเห็นจากที่ทรงประกาศในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 3 261 (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 79) ความว่า
“...บัดนี้ฤดูลมสำเภาแล้วลมก็อ่อนฝนชะลานก็ไม่มีมา ท้องฟ้าก็ผ่องแผ้วไปไม่มีเมฆตั้งทั้งกลางวันกลางคืนโดยมาก เพราะฉะนั้นขอประกาศมาให้ท่านทั้งหลายทั้งปวง คิดพยายามทำนาปรังนาเพาะเลยแลข้าวไร่ให้ได้มาก ๆ ให้รีบทำตั้งแต่เดือน 6 ไป โดยฝนน้อยข้าวไร่จะได้รอดตัวอยู่ นารังจะได้ตั้งตัวอยู่ด้วย น้ำท่าวิดสาดบ้าง ให้ผู้สำเร็จราชการเมืองกรมการแขวงอำเภอ ป่าวร้องราษฎรให้คิดทำนาเข้า ไร่นาปรังเตรียมตัวไว้ เกลือกปีนั้นแลน้ำจะน้อย นาใหญ่จะไม่มีผลคนถูกอัดคัดมาปีหนึ่งแล้วจะได้ความลำบากมากไป ...”
พระองค์ทรงอาทรต่อราษฎรที่ไม่รู้หนังสือ เขียนหนังสือไม่ได้ และต้องลงชื่อทำสัญญาต่าง ๆ เช่น กรมธรรม์ขายตัวเป็นทาส ขายหรือจำนองที่ดิน หนังสือยอมความ ฯลฯ เพราะจะมีการร้องฎีกากล่าวโทษ เรื่องการปลอมแปลงลายมือในเอกสาร จึงทรงประกาศตักเตือนราษฎรให้รอบคอบในการทำนิติกรรมจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 4 292 (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 94-95) ความว่า
“... เรื่องความฎีการาษฎรทูลเกล้าฯถวาย กล่าวโทษขุนศาลตระลาการว่าบังคับให้เสมียนผู้คุมกดขี่ลูกความผู้ต้องคดีนั้น ๆ ยอมแล้ว ให้เสมียนผู้คุมแลพวกพ้องของตัวเขียนหนังสือยอมความต่าง ๆ เรียกค่าธรรมเนียมด้วยฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลยไม่ลงใจยอมพร้อมกัน ดังนี้เนือง ๆ ได้ทราบฝ่าละอองฯ เป็นหลายเรื่องหลายราย เพราะฉะนั้นแต่นี้สืบไปเรื่องคดีใด ๆ ซึ่งโจทก์จำเลยจะทำหนังสือยอมเลิกแล้วแก่กันก็ดียอมแพ้ชนะกันก็ดี ห้ามอย่าให้ขุนศาลตระลาการทุก ๆ กระทรวงในกรุงแลหัวเมือง บังคับให้เสมียนในโรงในศาลของตัวเขียนหนังสือยอม ต่าง ๆ เป็นอันขาด ให้ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยจ้างวานผู้มีชื่อผู้อื่นมาเขียนตามชอบใจ แต่ไม่ให้จ้างวานผู้ที่เกี่ยวข้องต้องในลักษณะความนั้นมาเขียน อนึ่งผู้ใด ๆ มีความขัดสนมาทำหนังสือขายตัวเองหรือบุตร ภรรยาแลกเงินท่านก็ดี ขายจำนำที่บ้านที่เรือนเรือกสวน ไร่นาแลอื่น ๆ ก็ดี ให้ผู้นั้น ๆ จ้างวานผู้เขียนมาเอง ห้ามอย่าให้ผู้เจ้าของทรัพย์ ผู้ช่วยทาสแลลูกหนี้ผู้รับซื้อ ผู้รับจำนำ หาคนพวกพ้องของตัวมารับจ้าง วานเขียนหนังสือสารกรมธรรม์ หรือหนังสือรับซื้อรับจำนำนั้นๆ ให้แก่ผู้มีความขัดข้องนั้น ๆ ไปเป็นอันขาด ถ้าขุนศาลตระลาการแลผู้ช่วยทาสลูกหนี้แลผู้รับซื้อรับจำนำ


หน้า 14 จากทั้งหมด 17 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17