การที่พระราชาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงยอมเสียสละอย่างเต็มพระราชหฤทัย เพื่อปรับปรุงประเทศไปสู่รากฐานประชาธิปไตยสมัยใหม่ ในขณะที่ราษฎรของพระองค์เองไม่ได้เคยนึกฝันถึง สิ่งนี้เลย โดยทฤษฎีพระราชาแห่งประเทศไทย ทรงปกครองแผ่นดินตามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทรงเป็นเจ้าชีวิต และประชาชนก็เป็นสมบัติของพระองค์ หากพระองค์มิได้ทรงคิดเช่นนั้น ทรงเห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะเป็น “มนุษย์” มากขึ้น ไม่ใช่เทพศักดิ์สิทธิ์ พระมหากษัตริย์ย่อมมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ตามวิสัยแห่งมนุษย์ เมื่อถูกยกย่องให้เป็น “เจ้าชีวิต” ก็ควรเป็นเจ้าชีวิตที่วางตัวดุจบิดามารดาอันเป็นที่พึ่งของราษฎร พระองค์ทรงวางรากฐานให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ในแง่ความสุภาพ อ่อนน้อม ถ่อมตน ความสำนึกในหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่พึงมีต่อผู้ใต้การปกครอง (นฤมล ธีรวัฒน์ 2525 : 202) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงอยู่ในภาวะของภิกษุถึง 27 พรรษา ทำให้ทรงทราบความจริงว่า สังฆภาวะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และพระองค์ได้เสด็จธุดงค์โดยพระบาทเป็นทางไกลไปในถิ่นต่างๆ ของประเทศ ทำให้ทรงเข้าถึงประชาชน เข้าพระทัยในประชาชน ทรงทราบความต้องการของประชาชนเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ยากที่ผู้ปกครองประเทศโดยทั่วไปจะสามารถทำได้ และการเสด็จธุดงค์ของพระองค์ ทำให้ทรงมีความรู้ทางด้านภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ๆ ไม่เคยกระทำ ทำให้พระองค์ทรงใกล้ชิดกับประชาชน ทรงสนทนากับประชาชนซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ของชาติไทย จากที่ทรงได้เห็นและทรงทราบความจริงเหล่านี้ ทำให้พระองค์ทรงตระหนักดีว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจะทรงทำอย่างไร หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น หากแต่การนำเอาความคิดอ่านและวิธีการแบบตะวันตกเข้ามาใช้ในเมืองไทยในขณะนั้น เกิดอุปสรรค 2 ประการ คือ

1. ขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ในระยะแรกนั้น ข้าราชการ ชั้นสูงส่วนมากยังนิยมการปกครองแบบเก่า มีบุคคลน้อยมากที่เข้าใจในเหตุผลของพระองค์ ที่ทรงต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแบบเก่าไปเป็นแบบตะวันตก และถ้ามีผู้ไม่เห็นชอบในพระบรมราโชบายที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ก็จะเกิดความขัดแย้ง อันจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปรับปรุงประเทศ

หน้า 2 จากทั้งหมด 17 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17