6. วัดเทวราชกุญชรวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดว่า “วัดเทวราชกุญชร” เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนนางสกุล กุญชร ณ อยุธยา เพราะสกุล กุญชร ณ อยุธยา เป็นผู้ทะนุ-บำรุงวัดนี้

7. วัดนวลนรดิศวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดนวลนรดิศ" เพื่อเป็นที่ระลึกถึงท่านผู้หญิงนวลและสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) มารดาและบุตรผู้สถาปนาวัดนี้

8. วัดเบญจมบพิตร
เดิมชื่อวัดแหลมหรือ วัดไทรทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจบพิตร” หมายความว่าวัดของเจ้านาย 5 พระองค์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษเทเวศร์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์, พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดจาก “วัดเบญจ-บพิตร” เป็น “วัดเบญจมบพิตร” อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พร้อมทั้งเพิ่มสร้อยนามว่า “ดุสิตวนาราม” เพื่อให้คล้องกับพระราชวังสวนดุสิตที่ทรงสร้างใหม่

9. วัดพิชัยญาติการามวรวิหาร เดิมชื่อวัดพระยาญาติการาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพิชัยญาติการาม” เพื่อให้พ้องกับราชทินนามของผู้สร้าง คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) แล้วโปรดให้ทำฉัตรขาว 5 ชั้น ถวายเป็นเครื่องสักการะพระประธานในพระอุโบสถ

10. วัดมหรรณพารามวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2393 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การยังไม่สำเร็จ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินสมทบ 1,000 ชั่ง เพื่อสร้างพระเจดีย์ทรงกลมองค์ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลางเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ เมื่อพ.ศ. 2403 ที่หน้าพระวิหาร ระหว่างศาลาการเปรียญกับโรงเรียนเทศบาล มีต้นโพธิลังกา ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูก 1 ต้น พระราชทานนามว่า “วัดมหรรณพาราม”


หน้า 11 จากทั้งหมด 26 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26