ในกระบวนการด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ในรัชกาลนี้ได้หันความนิยมไปสู่แบบตะวันตกแทนรูปแบบศิลปะของจีน พระมหาปราสาทราชมณเฑียรรับเอารูปลักษณะ “ฝรั่ง” มาใช้มากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ ขึ้นในที่สวนขวาใหม่ทั้งหมู่ นอกจากนั้นกระบวนการช่างศิลปะอย่างยุโรปได้แพร่หลายออกไปสู่วัดวาอาราม และวังเจ้านายในท้องที่ต่าง ๆ จนกล่าวได้ว่า รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นสมัยเริ่มแรกของศิลปะตะวันตกในยุครัตนโกสินทร์ (มหาวิทยาลัย ศิลปากร 2525 : 6) สถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามาเผยแพร่มากขึ้นกว่าช่วง 3 รัชกาลที่ผ่านมา แบบอย่างสถาปัตยกรรมจากประเทศอังกฤษในสมัยพระนางเจ้าวิกตอเรียที่เผยแพร่ไปในอาณานิคมของอังกฤษ เช่น สิงคโปร์ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ อินเดีย พม่า ซึ่งเรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม (Colonial Architechture) ไทยได้รับอิทธิพลมาจากสิงคโปร์ ปีนังอีกต่อหนึ่ง และชาวตะวันตกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ในขณะนั้นได้นำความรู้ทางการก่อสร้างเข้ามาร่วมผสมผสานกับลักษณะพื้นเมืองและสภาพดินฟ้าอากาศของไทย (ผุสดี ทิพทัส 2545 : 105) อย่างไรก็ดีการรับรูปแบบศิลปะต่างชาติของรัชกาลนี้ก็มิได้หมายความว่า ศิลปะ ตะวันตกจะสอดแทรกเข้าไปทุกหนทุกแห่งในสถาปัตยกรรมไทย คงมีในบางแห่งและเป็นบางส่วนเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ได้ทรงสั่งเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งภายในอาคารจากยุโรปเข้ามาใช้ อันเป็นการเริ่มต้นของการนำรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ในอาคารประเภทที่อยู่อาศัย ราชสำนักเป็นแบบอย่างของมาตรฐานและรสนิยมทางศิลปะในแต่ละสมัย ดังนั้นขุนนาง เสนาบดีและคหบดี จึงนิยมทำตามพระราชนิยม การวางผังอาคารที่พักอาศัยเพื่อประโยชน์ใช้สอยภายใน จึงเป็นแบบตะวันตกมากขึ้น แต่ในขณะนั้นราษฎรสามัญทั่วไปยังคงใช้รูปแบบดั้งเดิม การกินอยู่ในชีวิตประจำวันและรูปแบบของบ้านเรือน ตามแบบอย่างเรือนไทยดั้งเดิมของสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ผุสดี ทิพทัส 2545 : 105-106)

สรุปลักษณะสถาปัตยกรรมในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นข้อสังเกตได้ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมมีลักษณะเป็นแบบอาคารสมัยโกธิก หรือ เรเนซองซ์
2. การจัดรูปผังพื้นอาคารคล้อยตาม สถาปัตยกรรมของศิลปะสมัยนั้น(เฉพาะอาคารที่เป็นที่พักอาศัยและอาคารราชการ)
3. ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลม และใช้เสาแบบคลาสสิก
4. อาคารที่เป็นวัดไทยนิยมใช้ศิลปะตะวันตกในส่วนที่เป็นกรอบซุ้ม ประตู หน้าต่าง ลายหน้าบัน และเสา ส่วนผัง พื้น วิธีการใช้อาคารและทรงหลังคาคงเป็นไปตามแบบไทยเช่นเดิม

หน้า 1 จากทั้งหมด 26 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26