“... ในหลวงบัดนี้ก็ไม่สู้ถนัดที่จะคิดสร้างวัดใหญ่วัดโต เพราะเห็นว่าของชำรุดก็ไม่มีใครซ่อม วัดใหญ่นักก็ถวายเปนที่อยู่ของศัตรูพระศาสนาไป จึงโปรดแต่ที่จะสร้างวัดเล็ก ๆ ที่จะบรรจุพระสงฆ์ 30 รูป ลงมาพอให้เจ้าอาวาสมีความรักวัดบ้าง เอาใจใส่วัดบ้าง...”
นอกจากจะทรงสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานแล้ว ทรงสร้าง และจำลองพระพุทธรูปและส่งสมณทูตไปลังกา เพื่อรวบรวมหลักฐานทางพระพุทธศาสนามาซ่อมพระไตรปิฎกที่ขาดไปให้ครบบริบูรณ์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ สร้างพระไตรปิฎกฉบับล่องชาดและปิดทองขึ้น ทรงออกแบบอักษรไทยใช้ในภาษามคธขึ้นแทนอักษรอริยกะ ซึ่งได้ทรงคิดไว้แต่เดิม เพื่อใช้พิมพ์คำสมาทานศีล คำนำวัตรสวดมนต์สำหรับอุเทสิกเจดีย์ (ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี 2525 : 501) อีกทั้งยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรก ที่ทรงนำพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในการพระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมงานพระราชพิธีใช้แต่พิธีทางพราหมณ์เท่านั้น เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมปวาย และพระราชพิธีโสกันต์


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงศาสนา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเข้มงวดกวดขันการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ทรงถือว่าพระวินัยสิกขาบทเป็นเครื่องดำรงให้ พระพุทธศาสนามั่นคงถาวร และทรงเห็นเป็นสิ่งผิดที่คฤหัสถ์จะถือลัทธิ “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” เพราะในยุคนี้มิใช่ยุคต้นศาสนา พุทธจักรต้องอาศัยราชอาณาจักร พระพุทธศาสนาจึงรุ่งเรืองอยู่ได้ พระองค์ทรงออกประกาศของทางราชการและพระราชบัญญัติ อาทิ ประกาศว่าด้วยการทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประกาศห้ามมิให้พระสงฆ์ บอกใบ้แทงหวยและประพฤติอนาจาร ประกาศห้ามมิให้ภิกษุ

หน้า 9 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22