“ลัทธิสมถวิปัสสนาธุระนั้น วุ่นวายมากไปด้วยสัมโมหะวิหาร เปรียบเหมือนยืมจมูกของท่านผู้อื่นมาหายใจ ท่านซึ่งเป็นพระอาจารย์นั้น จะพูดจาสั่งสอนในพระธรรมอันใด ก็งุบงิบ อ้อมแอ้ม ไม่อธิบายให้กระจ่างสว่าง ให้ได้ความเลื่อมใสศรัทธาแก่ผู้เล่าเรียน ครั้นศิษย์พวกใด ไถ่ถามบ้างก็โกรธ พูดอ้างคติโปรามาจารย์ เช่น อาจิณกัปปิกา ว่าท่านผู้ใหญ่เคยทำมาอย่างนี้…” (นฤมล ธีรวัฒน์ 2525 : 80)

พอออกพรรษา จึงเสด็จกลับมาประทับที่วัดมหาธาตุฯ เพื่อทรงศึกษาด้านคันถธุระต่อไป เมื่อเสด็จมาประทับวัดมหาธาตุฯ ทรงศึกษาคันถธุระให้ลึกซึ้ง ทรงเรียนภาษามคธกับพระวิเชียรปรีชา (ภู่) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์จนเชี่ยวชาญ จึงทรงสอบสวนในคัมภีร์พระไตรปิฎก ทรงเห็นว่าข้อปฏิบัติด้านธรรมวินัย ที่พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติกันอยู่คลาด เคลื่อนจากพระพุทธบัญญัติ ไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ขณะที่ทรงพระปริวิตกอยู่ ได้ทรงวิสาสะกับพระเถรรามัญนามพระสุเมธมุนี อยู่วัดบวรมงคลบวชมาจากเมืองมอญ มีความรู้เรื่องธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด สามารถชี้แจงให้ทรงทราบอย่างชัดแจ้งและสิ้นสงสัย พระองค์ได้ทรงรับวัตรปฏิบัติ ตามแบบพระสุเมธมุนีและทรงนับถือเป็นพระอุปัชฌาย์อีกด้วย จึงนับได้ว่าก่อกำเนิดเป็นต้นคติธรรมยุติกนิกาย ความเลื่อมใสและทรงขยันหมั่นเพียร ทำให้พระองค์ทรงศึกษาต่อไป พระองค์ทรงใช้สามัญสำนึกและมีพระทัยที่จะค้นหาเหตุผลอย่างแท้จริงอยู่เสมอ ทรงตั้งพระทัยศึกษาค้นคว้าให้มาก ถึงความรู้ทางหลักพระพุทธศาสนาและพระวินัย ทรงศึกษาจนแตกฉานเชี่ยวชาญ ในภาษามคธทั้งบาลีและสันสกฤต สามารถสอบสวนข้อความต่าง ๆ จากพระไตรปิฎกทุกฉบับ

ใน พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้พระองค์เสด็จเข้าสอบไล่พระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง และพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศสำหรับเปรียญเอก 9 ประโยค โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระราชาคณะ แล้วให้เสด็จเข้าร่วมในที่ประชุมพระราชาคณะผู้ใหญ่น้อย เพื่อสอบไล่พระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร

ช่วงเวลาที่ประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสั่งสอน กุลบุตรให้เล่าเรียนศึกษาโดยทรงเน้นข้อวินัยวัตรและสุตตันตปฏิบัติต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย มีผู้บรรพชาอุปสมบท ประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระองค์ขึ้นหลายรูป จนถึงปี พ.ศ. 2372 พระองค์จึงทรงย้ายจากวัดมหาธาตุฯ มาประทับ ณ วัดสมอราย

หน้า 3 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22