ทรงมีศิษย์ที่ถือวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุติกามีจำนวนราว 20 รูป (ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี 2525 : 492) ตามเสด็จไปวัดสมอรายบ้าง คงอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ บ้างและแยกย้ายไปอยู่ที่วัดอื่นบ้าง พระองค์ทรงตั้งสำนักนิกายธรรมยุตมีผู้คนนิยม นับถือพระองค์มาก ทั้งพระภิกษุและคฤหัสถ์ ทรงให้บรรพชาอุปสมบทแก่ผู้มีศรัทธา และสงเคราะห์แก่คฤหัสถ์ด้วยธรรมกถาอนุสาสโนวาท จึงมีพระสงฆ์นิกายธรรมยุตแพร่หลายแต่ครั้งนั้นมา การก่อตั้งนิกายธรรมยุตนี้ทำให้พระองค์ถูกเพ่งเล็งในทางการเมือง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา (พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2506 : 44-45 อ้างถึงใน ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี 2525 : 493) ความว่า

“... ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าก็เปนคนหน่าต่ำเลวลับหน่าค่าซื่อ อยู่หัวบ้านหัวเมือง ไม่มีใครรู้จักมักคุ้น ไม่มีใครได้ไปมาหาสู่... ตัวข้าพเจ้ามีวาสนาสูงคราวหนึ่งต่ำคราวหนึ่ง... ครั้งนั้นชาวบ้านชาวชาวเมืองเล่าลือว่ากีดพระเนตรพระกรรณพระเจ้าอยู่หัว...”

ข่าวนี้ถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรำคาญพระราชหฤทัยและเพื่อระงับความสงสัยและข่าวลือต่าง ๆ นานา จึง โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง และเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ (ในขณะนั้นตำแหน่ง เจ้าอาวาสว่างอยู่) ใน พ.ศ. 2379 เมื่อทรงเป็น เจ้าอาวาสวัดนี้ จึงทรงจัดระเบียบการคณะสงฆ์ การปกครองวัด และสั่งสอนผู้คนตามคติธรรมยุติกนิกาย มีผู้คนศรัทธาขอบรรพชาอุปสมบทกับพระองค์มากขึ้น มีพระสงฆ์ในพรรษาราว 130 ถึง 150 รูป สงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเริ่มขยายตัวขึ้นมากตามลำดับ สำหรับคติธรรมยุติกนิกาย ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระรัตนตรัย (ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาไทยในรัชกาลที่ 4 2511 : 38-39 อ้างถึงใน ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี 2525 : 494) ไว้ว่า

“... ทรงเห็นดังนี้แล้วสังเวชในพระทัย จึงยกเอาพระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นที่เคารพนับถือ เป็นของจริงของแท้ปฏิบัติไปตาม จึงมีนามว่า ธรรมยุติกา... ให้ปฏิบัติเอาแต่สิ่งที่ถูกตามพระธรรมวินัยให้มีลัทธิถือมั่นในทางสวรรคนิพาน ที่ตรงที่ถูกเป็นที่แน่นอนกับใจว่านรกสวรรค์เป็นของ มีจริง มรรคผลนิพานเป็นของมีจริง คนมีปัญญา อันสุขุมละเอียดจึงจะรู้ได้ด้วยใจ จะแลไปด้วยตา ไม่เห็น....”
“...เราทั้งหลายผู้ธรรมยุติกวาที มีวาทะถ้อยคำกล่าวตามที่ชอบแก่ธรรม เป็นผู้เลือกคัดแต่ข้อที่ชอบแก่ธรรม ไม่ผิดไม่ละเมิดจากธรรม... ในพระบาลีว่านี้เป็นคำสั่งสอนเป็นแก่นสารพระพุทธศาสนาแน่ดังนี้แล้ว เราทั้งหลายก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนนั้น ด้วยกายวาจาจิต...”

หน้า 4 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22