7. ทรงให้พระสงฆ์ธรรมยุต ศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน สามารถแสดงธรรมเทศนา สั่งสอน สามารถแยกระหว่างความเชื่อที่มีเหตุผล และความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ การศึกษาในด้านวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่รับรู้เฉพาะสมถะวิธีอันเป็นเบื้องต้น แต่ให้รับรู้ไปถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติตามพระวินัย ทรงให้ถือหลักว่าสิ่งใดที่สงสัยและน่ารังเกียจไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด พึงเคารพพระวินัยอย่างเคร่งครัด
8. ทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาหา ความรู้สาขาอื่น ๆ ของพระสงฆ์ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวล (Reverend Jesse Caswell) ตามความสนใจ ทำให้มีการสืบสานการเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน

นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานกำเนิดพระสงฆ์นิกายธรรมยุต โดยทรงจัดวางระเบียบแบบแผนและธรรมยุติกวัตรขึ้นสำเร็จ ซึ่งทรงปฏิบัติไปด้วยความกล้าหาญ ไม่ทรงย่อท้อต่ออุปสรรค แม้ว่าจะมีความพยายามทำลายล้างพระสงฆ์นิกายนี้ ดังเช่นให้สึกพระอุปัชฌาย์ของพระองค์ และกลั่นแกล้งพระสงฆ์นิกายธรรมยุต อย่างไรก็ตามพระสงฆ์นิกายธรรมยุต ก็เป็นที่ศรัทธาของราษฎรทุกชั้นขึ้นตามลำดับ การก่อเกิดของธรรมยุติกนิกายยังผลให้มีการฟื้นฟู และส่งผลที่เป็นคุณแก่พระพุทธศาสนา การพยุงรักษาพระพุทธศาสนาเท่าที่กระทำกันใน รัชกาลก่อน ๆ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การฟื้นฟูและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามุ่งเน้นไปทางพระปริยัติธรรม และก่อสร้างปฏิสังขรณ์ด้านศาสนวัตถุเป็นส่วนใหญ่ แต่ศาสนบุคคลยังไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างจริงจัง กรณีที่มีผู้ประพฤติปฏิบัติผิดพระวินัย ก็ทรงใช้พระราชอำนาจป้องกันปราบปรามให้สึกจากสมณเพศ ยังไม่ได้เข้าไปแก้ไขในวงการสงฆ์ ดังนั้นการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นและมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง นับได้ว่าทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย

หน้า 6 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22