การศาสนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงตระหนักว่า พระภิกษุสงฆ์ประพฤติปฏิบัติผิดแผกไปจากพระธรรมวินัยเก่าแก่เป็นอันมาก การปฏิบัติศาสนกิจกระทำกันไปตามที่เคยปฏิบัติมา โดยไม่เข้าใจถึงความหมายและจุดมุ่งหมายที่แฝงอยู่ภายในเนื้อหาอันแท้จริงของพุทธศาสนา คือ ความรู้อันได้จากการตีความหมายของพระไตรปิฎก พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเข้าใจในพุทธศาสนาที่แท้จริง และให้ผู้อื่นเข้าใจถึงประโยชน์อันเกิดจากข้อปฏิบัติที่ พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติพร้อมทั้งหลักธรรมที่ได้จากการปฏิบัติ เน้นหนักในแนวความคิดเห็นด้าน ศีลธรรมจรรยาของชาวพุทธ
พระองค์ทรงถือว่าพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่มีข้อขัดแย้งอะไรกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พระองค์มิได้ทรงคัดค้านในเรื่องการตายแล้วเกิดใหม่ แต่พระองค์ทรงใช้อัตถาธิบายไปในแง่ปรัชญา ทรงชี้ให้เห็นถึงหลักของฟิสิกส์ ที่ว่าผลย่อมเกิดแต่เหตุ หากหลักเกณฑ์อันนี้ ครอบคลุมจักรวาลทางวัตถุอยู่ เหตุไฉนหลักเกณฑ์อันเดียวกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงจักรวาลทางจิตด้วย ตามหลักนี้สรุปได้ว่า กรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ย่อมติดตามหรือยังผลให้เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า ถึงหากจะไม่เชื่อว่าวิญญาณจะไปเกิดใหม่ แต่อำนาจแห่งกรรมย่อมไม่มีวันเสื่อมศูนย์ แนวความคิดเช่นนี้ยากสำหรับบุคคลธรรมดาที่จะเข้าใจได้ หากแต่เป็นเพราะพระองค์ทรงเข้าใจในหลักศาสนาอย่างลึกซึ้ง พระองค์จึงทรงพยายามให้ประชาชนของพระองค์เข้าใจในหลักธรรมเช่นกัน (มอฟแฟ็ท 2520 : 24)
เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรตามประเพณี ทรงศึกษาศีลธรรมและเรียนภาษาบาลีขั้นต้น พระองค์ทรงดำรงภาวะสามเณรอยู่ 7 เดือน ครั้นเมื่อมีพระ ชนมพรรษาได้ 21 พรรษา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งเดิมพระองค์ตั้งพระทัยที่จะทรงผนวชเพียงหนึ่งพรรษาตามราชประเพณี หากเกิดเหตุการณ์อันมิได้คาดคิด ผลปรากฏต่อมาว่า พระองค์ไม่ได้ทรงลาผนวชตราบจน 27 ปีภายหลัง

หน้า 1 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22