ในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระนิรันตราย พระนิรันตรายองค์นี้ต้องการสร้างขึ้นเพื่อสวมพระพุทธรูปนิรันตรายองค์เดิมไว้ภายใน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราเสนะแสดงธยานะมุทรา พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฏค่อนข้างแคบ พระขนงเป็นรูปปีกกา มีอุณาโลมบนพระนลาฏ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฏ์เรียว พระเศียรประดับด้วยขมวดพระเกศาขนาดเล็กปราศจากเกตุมาลา มีรัศมีรูปเปลวไฟเหนือพระเศียร ครองอุตราสงค์จีบเป็นริ้ว เหมือนริ้วผ้าตามธรรมชาติ มีสังฆาฏิขนาดใหญ่พาดทับบนพระอังสาซ้ายห้อยลงมาจรดพระนาภี สร้างเป็นพระพุทธรูปทองคำและพระพุทธรูปเงินไล่บริสุทธิ์ไว้เป็นคู่กัน ครั้นภายหลังพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ ให้สร้างพระนิรันตรายไปถวายให้เป็นอาวาส แด่พระสงฆ์ฝ่ายนิกายธรรมยุติกนิกาย จึงโปรดเกล้าฯให้ช่างหล่อพระนิรันตรายพิมพ์เดียว กับพระพุทธรูปนิรันตรายทองและเงิน หล่อเป็นทองเหลืองแล้วกาไหล่ทองคำมีเรือนแก้วประกอบ เรือนแก้วนี้เป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า 9 เบื้องหลัง 9 พระคุณนามแสดงพระพุทธคุณตั้งแต่ อรหํ สมฺมา สมพุธโธ ภควา ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐานชั้นล่าง ประดับด้วยศีรษะโค (ศีรษะโค หมายถึง พระโคตรซึ่งเป็นโคตมะประกอบที่ฐานพระพุทธรูป) หล่อพระนิรันตรายจำนวน 18 องค์เท่ากับจำนวนปีที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และพระราชดำริว่าจะทรงหล่อปีละองค์ พร้อมกับพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระพุทธรูปนิรันตรายทั้งหมดยังไม่ได้กาไหล่ทอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯใหกาไหล่ทองทั้ง 18 พระองค์แล้วพระราชทานไปตามวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุตินิกาย ตามพระราชประสงค์ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ

พระพุทธรูปที่ทรงได้มา

พระพุทธสำคัญองค์แรกที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายคือพระนิรันตราย (องค์เดิม) เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 สร้างด้วยทองคำประทับนั่งแบบปรยังกาสนะแสดงธยานะมุทรา มีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันเหมือนปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์กว้าง พระกรรณยาวเกือบพระอังสา พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศามีเกตุมาลาปราศจากรัศมี

หน้า 20 จากทั้งหมด 22 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22