พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศให้ใช้เงินเหรียญต่างประเทศแทนเงิน พดด้วง ทรงมีพระราชดำริว่าเงินเข้ามาในบ้านเมืองมากเป็นการดี ทำให้ราษฎรมั่งมีทรัพย์สินเงินทองยิ่งขึ้น ประเทศอื่น เช่น จีน ญวน พม่า แขก ที่ลูกค้าชาวต่างประเทศเข้าไปค้าขาย นำเงินเหรียญต่างประเทศไปใช้จ่ายไม่มีอะไรขัดข้อง เมืองขึ้นของไทยขณะนั้น เช่น เมืองสงขลา ถลาง (ภูเก็ต) พงา (พังงา) ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า ซึ่งทำการค้าขายถึงกันกับประเทศที่ขึ้นกับอังกฤษ ใช้เงินเหรียญต่างประเทศอยู่บ้างนานมาแล้ว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธรเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นควรอนุญาตให้ใช้ได้ และอัตราแลกเปลี่ยนยุติธรรมดี จึงทรงประกาศให้ราษฎรใช้เงินเหรียญต่างประเทศได้เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ เดือน 2 ขึ้น 12 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2399 โดยให้มีอัตราแลกเปลี่ยน 3 เหรียญ (ชนิดเหรียญละ 7 สลึง) ต่อ 5 บาทไทยหรือ 48 เหรียญ เม็กซิกันชนิด 8 เรียล (นิยมเรียกว่า เหรียญนก เพราะด้านหนึ่งเป็นรูปนกอินทรี) ต่อ 1 ชั่ง เหรียญญี่ปุ่นชนิดหนึ่งเยน 49 เหรียญ ต่อ 1 ชั่ง เหรียญฮอลันดาชนิด 2 1/2 กิลเดอร์ 52 เหรียญ ต่อ 1 ชั่ง และเหรียญอินเดียชนิดหนึ่งรูปี 112 เหรียญ ต่อ 1 ชั่ง ทั้งนี้คิดตามน้ำหนักและเนื้อเงิน เงินเหรียญเหล่านี้เมื่อผู้ใดสงสัยก็ให้เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ตรวจตีตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล คือ ตราจักรและตรามงกุฎบนเหรียญนั้น ๆ เพื่อแสดงว่าเป็นของแท้และมีค่าตามที่ทรงประกาศไว้ในประกาศรัชกาลที่ 4 ภาค 3 : 45-48 เรื่องประกาศให้ใช้เงินเหรียญนอก (ครั้งที่ 1) ความว่า
... เงินเข้ามาในบ้านในเมือง ก็มีคุณกับแผ่นดินเป็นอันมาก ดังราษฎรจะได้มั่งมีทรัพย์สินเงินทองบริบูรณ์ขึ้น และแผ่นดินเมืองจีน เมืองพราหมณ์ เมืองแขกเทศ แขกมลายู เมืองพม่า เมืองญวน ที่ลูกค้าชาวยุโรปได้ไปค้าขายถึง ก็ได้ใช้เงินเหรียญกันทั่วไปแล้ว และเมืองสงขลา เมืองถลาง เมืองพงา เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ซึ่งขึ้นกับกรุงเทพมหานคร ที่ค้าขายถึงกันกับประเทศที่ขึ้นแก่อังกฤษ ก็ใช้เงินเหรียญอยู่บ้างนานมาแล้ว และที่กรุงเทพทุกวันนี้ลูกค้าพานิชเข้ามาค้าขายเจริญมากขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายสิบเท่า ควรที่จะขอให้ใช้เงินเหรียญกันได้แล้ว ถ้าลูกค้าพานิชและราษฎรรักจะใช้เงินเหรียญกันก็ตามใจเถิด อย่ากลัวเลยว่าจะมีโทษเพราะใช้เงินเหรียญ ... |