“ใบพระราชทานเงินตรา”


บัตรพระราชทานเงินตรา
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้ผลิตขึ้นใช้ ผู้ที่ได้รับสามารถโอนต่อให้ผู้อื่นหรือนำไปขึ้นเงินสดได้ หากเก็บไว้จนมีครบเก้าใบ แล้วนำไปขึ้นเงินสด พระองค์จะพระราชทานเพิ่มให้อีกหนึ่งใบ นับว่าเป็นตราหนี้ชนิดที่เรียกว่า เช็คในปัจจุบัน (ภาพจาก เบี้ย บาท กษาปณ์ แบงก์ หน้า 69)

ใบ “พระราชทานเงินตรา” หรือ “เช็ค” เป็นกระดาษสีขาวพิมพ์หน้าเดียว ไม่พบหลักฐานว่า ออกใช้ในปีใด สันนิษฐานว่าคงเป็นเรื่องจ่ายเบี้ยหวัดให้แก่ข้าราชการในยามที่เงินตราโลหะขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นระหว่าง พ.ศ. 2399-2403 ว่ากันว่ามีราคา สามตำลึง สี่ตำลึง ห้าตำลึง เจ็ดตำลึง สิบตำลึง สิบสองตำลึง สิบห้าตำลึง หนึ่งชั่ง หนึ่งชั่งห้าตำลึง และหนึ่งชั่งสิบตำลึง มีขนาดกว้าง 3 นิ้วครึ่ง ยาว 4 นิ้วครึ่ง
ใบพระราชทานเงินตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้ถือเป็นแบบอย่างใบสั่งจ่าย ให้ได้ใช้กันต่อมา แต่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” มีขนาดใหญ่ประมาณสามเท่าของใบพระราชทานเงินตรา
การใช้หมายหรือที่พระคลังมหาสมบัติ เรียกว่า ธนบัตร และทั้ง “เช็ค” หรือที่เรียกกันว่าใบ “พระราชทานเงินตรา” นั้นมีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงเป็น ผู้นำในการสร้างเครื่องแลกทำด้วยกระดาษโดยแท้จริง (ประยุทธ สิทธิพันธ์ ม.ป.ป. : 144)

หน้า 15 จากทั้งหมด 19 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19