ธนบัตร
หมาย
เงินกระดาษหรือธนบัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2396 เพื่อความสะดวกในการชำระหนี้จำนวนมาก ดังหลักฐานจดหมายเหตุรัชกาลที่ 4 (ภาพประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ม.ป.ป. : 468) เรียกว่า หมาย เป็นเครื่องแลกทำด้วยกระดาษ มีตัวอักษรพิมพ์และประทับพระราชลัญจกร 3 ดวง ให้ราคาตั้งแต่เฟื้องจนถึงหนึ่งบาท ผลิตขึ้น 3 ประเภท คือ
หมายประเภทที่หนึ่ง ทำด้วยกระดาษปอนด์สีขาวขนาดใหญ่ ความกว้าง 4 นิ้ว ความยาว 5 นิ้วครึ่ง สันนิษฐานว่าผลิตขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2396 ตามหลักฐานที่ปรากฏ มีสี่ราคา ได้แก่ สามตำลึง สี่ตำลึง หกตำลึง และสิบตำลึง ด้านหน้ามีกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสองชั้นและบ่งราคาไว้ เช่น หมายราคาสี่ตำลึง มีความหมายว่า ใช้สี่ตำลึงให้แก่ผู้เอาหมายนี้มาให้เก็บหมายนี้ไว้ทรัพย์จักไม่สูญเลย ทั้งสองข้างมีตราอักษรจีน (แปลว่าพิทักษ์หรือคุ้มครองประทับอยู่เท่ากับจำนวนตำลึง และมีตราใบไม้ประทับอยู่บนตราอักษรจีนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ตรงกลางประทับตราจักรและตรามหาพิชัยมงกุฎ สำหรับด้านหลังเป็นลายเครือเถาเต็มทั้งด้าน มีตราชาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นอักษรขอมประทับอยู่ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธฌิยาบรมราชธานี (ประยุทธ สิทธิพันธ์ ม.ป.ป. : ไม่ปรากฏเลขหน้า)
|