พระราชนิพนธ์ที่อัญเชิญมา แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในการปืนใหญ่ และทรงสั่งให้บรรดาราชทูตจัดหาหรือสั่งทำปืนใหญ่ตามตัวอย่างที่ทอดพระเนตรเห็นในหนังสือฝรั่ง และต่อมาเมื่อทรงเห็นภาพและทรงทราบคุณสมบัติของปืนแก็ตลิงกัน ซึ่งสร้างในสหรัฐอเมริกาจากนิตยสารฝรั่งแล้ว ก็เก็บไปทรง พระสุบิน และโปรดให้บริษัทต่างประเทศสร้างถวายตามพระสุบินใน พ.ศ. 2404 ปืนกระบอกนี้มี คุณสมบัติเป็นปืนกล เมื่อเข้ามาถึงได้พระราชทาน ชื่อว่า “พระแสงปืนพระสุบินบันดาล” ปัจจุบันนี้วางแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ดำเนิร เลขะกุล 2527 : 25)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดหาปืนใหญ่ไว้ป้องกันประเทศ ดูจากเอกสารที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) 2506 : 727-728) ตอนหนึ่ง มีพระราชดำริว่า

“... บ้านเมืองก็เจริญขึ้นแล้ว ปืนใหญ่ ๆ ที่จะรักษาพระนครก็ยังมีน้อย พระบาทสมเด็จพระ นั่งเกล้าฯ สั่งปืนกระสุน 10 นิ้ว เข้ามาเพียง 100 บอก ยังไม่พอใช้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สั่งปืนกะสุน 8 นิ้ว 12 นิ้ว เข้ามาอีก เจ้าพระยา ศรีสุริยวงศ์ จึงสั่งนายทหารกุมปันนีว่า ราคาตกลงกัน กะสุน 12 นิ้ว ราคาบอกละ....(ไม่ใส่ราคาไว้) กะสุน 8 นิ้ว ราคาบอกละ ...(ไม่ได้ใส่ราคาไว้) ก็ได้ปืนเข้ามาเป็นอันมาก กับปืนเฟาลิงปิด 4 บอก มีรูปช้างคร่ำทองคำราคาบอกละ 30 ชั่ง 18 ตำลึง 2 บาท ปืนอามสตรอง กะสุนหนัก 40 ปอนด์ 2 บอก คิดทั้งเครื่องสำหรับปืนและส่งถึงกรุง บอกละ 61 ชั่ง 15 ตำลึง 1 สลึง ปืนอามสตรอง กะสุนหนัก 12 ปอนด์ 2 บอก คิดทั้งเครื่องสำหรับปืนและค่าจ้างส่งถึงกรุง บอกละ 47 ชั่ง 1 สลึง ปืนทองเหลือง 60 บอก ๆ ละ 2 ชั่ง 14 ตำลึง 3 บาท 1 สลึง เฟื้องปืนหลักช้าง 40 บอก ๆ ละ 6 ตำลึง 1 บาท และปืนคาบศิลาไรเฟิล ฉนวนทองแดง เข้ามารักษาพระนครอีก เป็นอันมาก...”

ปืนใหญ่ซึ่งทรงสั่งซื้อเข้ามาใช้ในกองทหารปืนใหญ่ของวังหลวงนี้ เมื่อเข้ามาแล้วได้นำมาเก็บรักษาไว้ในโรงปืนใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างศาลาลูกขุนในพระบรมมหาราชวัง และในปัจจุบันที่ยังเหลือ คือ

1. ปืนใหญ่เฟาลิงปิด ลำกล้องกว้างราว 8 นิ้ว มีหลายกระบอก บนลำกล้องมีรูปช้าง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของประเทศไทย บริษัทผู้สร้างทำให้เป็นพิเศษ และมีเลข "1861" ตรงกับ พ.ศ. 2404 เป็นปีที่คณะราชทูตไทยซึ่งมีพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นหัวหน้า เดินทางไปเจริญ สัมพันธไมตรีกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส

หน้า 8 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13