ตำรวจ
การวางพื้นฐานทางด้านตำรวจ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งตำรวจทำหน้าที่รักษาการเหมือนอย่างเช่นตำรวจในปัจจุบันนี้ แต่ไม่ได้เรียกว่าตำรวจ หากเรียกว่า “โปลิศ” มีปรากฏในบันทึกจดหมายเหตุรายวันของ หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) ประจำเดือนเมษายน ว่า “เมษายน พ.ศ. 2404 กองโปลิศที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ลงมือรักษาหน้าที่ตอนสำเพ็ง” เป็นอันแน่นอนว่า โปลิศซึ่งตั้งขึ้นครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยภายในพระนคร ปฏิบัติงานคล้ายหน้าที่ของตำรวจที่ปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ในครั้งนั้นไม่ได้เรียกว่า “ตำรวจ” เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “โปลิศ” จากเอกสารของนายพันตำรวจโท ฟอร์ตี (C.H. Forty)เขียนเรื่อง “A Sketch of Siam's Gendarmerie” ลงในหนังสือพิมพ์ตำรวจในประเทศอังกฤษ (ก่อน พ.ศ. 2475) ชื่อหนังสือ “The Police Journal”

ผู้แต่งเรื่องนี้เป็นชาวต่างประเทศ เคยเข้ามารับราชการตำรวจในประเทศสยาม สามารถจดจำรวบรวมเรื่องราวได้ความว่า

ในปี พ.ศ. 2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ชาวอังกฤษผู้หนึ่ง นามว่า เอส เย เบิก เอมส์ (S.J. Burg Aims) ให้เป็นผู้ตั้งกองตำรวจขึ้นในพระนครเป็นครั้งแรก สมัยนั้นเป็นเวลาก่อนที่ตำรวจในกรุงลอนดอนซึ่งใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน ได้เปลี่ยนจากหมวกสูง (Top hat) มาใช้หมวกยอด (Helmet) ฉะนั้นเมื่อพิเคราะห์ดูตามบรรทัดฐานของตำรวจ จะเห็นได้ว่าตำรวจของไทยมีมานานก่อนสมัยดังกล่าว เป็นพวกที่ทำหน้าที่คล้ายคลึงและใกล้เคียงกับตำรวจมากที่สุดก็คือเจ้าหน้าที่จำพวกหนึ่ง (ตำรวจหวาย) แต่งกายในเครื่องแต่งกายพลเรือน คือถือมัดหวายมีหน้าที่ช่วยเหลือตุลาการ ทำนองเดียวกันกับจำพวก โบว์ สตรีท รันเนอร์ส (Bow Street Runners) ซึ่งเป็นชื่อของตำรวจในกรุงลอนดอนสมัยโบราณ

เอมส์ ได้รับพระราชทานยศเป็นผู้บังคับการตำรวจ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาครั้งแรกเป็นแขกมลายู รับสมัครจากพวกซึ่งเคยเป็นทหารและตำรวจมาแล้วที่สิงคโปร์ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นคนไทยและแขกอินเดีย ที่เหลืออยู่ก็มีหน้าที่สืบสวน

หน้า 12 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13