การวางพื้นฐานทางด้านการทหาร

โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักว่าประเทศต่าง ๆ ในบริเวณเอเชียนี้กำลังถูกคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังอยู่ในแผนการยึดครองของฝรั่งเศสและอังกฤษ ฉะนั้นจึงทรงต้องปรับปรุงกิจการทหารของประเทศให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยอย่างรีบด่วนพร้อมกันหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดกำลัง การจัดหาอาวุธ การฝึก และยุทธวิธี และทรงทอดพระราชภาระให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ในด้านการฝึกอบรมทหารปืนใหญ่ และทรงช่วยปรับปรุงกองทัพบกให้เป็นหน่วยทหารแบบตะวันตก ส่วนหน่วยทหารราบนั้นมีพระราชประสงค์ จะได้นายทหารอังกฤษมาช่วยปรับปรุงและฝึกอบรม จึงทรงเลือกจ้างร้อยเอกชาวอังกฤษ ทหารนอกราชการของกองทัพอังกฤษเข้ารับราชการเป็นนายทหารฝรั่งคนแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชื่อร้อยเอก อิมเปย์ (Impey) ได้รับมอบหมายให้ฝึกทหารในกรมอาสาลาวและเขมร ในพระบรมมหาราชวัง ให้จัดเป็นกองร้อย เรียกว่า “ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป” หรือ “ทหารเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง” การฝึกสอนทหาร ได้จัดระเบียบแบบแผน และฝึกสอนทางบกเป็นครั้งแรก ตามแบบอย่างทหารอังกฤษ มีการแบ่งแยกเป็น กองพัน กองร้อย หมวดหมู่ มีผู้บังคับบัญชา ชั้นนายพัน นายร้อย นายสิบ ลดหลั่นกันลงมา และ เรียกขานเป็นคำอังกฤษ เพราะผู้สอนไม่อาจแปลคำเป็นภาษาไทย ทหารพวกนี้จึงได้ชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ทหารเกณฑ์หัดอย่างอีหรอบ” ในขั้นต้นได้จัดเหล่าทหารรักษาพระองค์ โดยแบ่งออกเป็นสองกอง เรียกว่า กองทหารหน้า และกองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกวังหลวงเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้กองทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปหรือกองทหารรักษาพระองค์เป็นทหารประจำพระองค์ ผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรรักษาพระราชฐาน การบังคับบัญชากองทหารทั้งสองนี้ แบ่งเป็นกองร้อย หมวด และหมู่ ซึ่งได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน (รอง ศยามานนท์ 2525 : 530)

หน้า 2 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13