ปืนอามสตรองที่ทรงกล่าวถึง เมื่อเปรียบเทียบกับลักษณะของ พระแสงปืนทรงพระสวัสดิ์ ซึ่ง ศาสตราจารย์ นายแพทย์สำราญ วังศพ่าห์ เขียนลงในนิตยสารศิลปากร ปีที่ 22 เล่ม 1 พฤษภาคม 2521 จะเห็นว่า ปืนกระบอกนั้นน่าจะเป็นปืนที่ทรงกล่าวถึง (ดำเนิร เลขะกุล 2527 : 22)
พระแสงปืนทรงพระสวัสดิ์ เป็นปืนสัมฤทธิ์ขนาด 1.15 นิ้ว บรรจุทางท้ายลำกล้องทีละนัด และปิดท้ายด้วยลูกเลื่อน มีเกลียว 5 ร่อง วางบนฐานเหล็กโค้งงอเป็นรูปตัว S ไม่มีตัวหนังสือบอกบริษัท เมือง และปีที่สร้าง มีแต่ลายหน้าสิงโตอยู่ที่ฐาน ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าสร้างในประเทศอังกฤษ
พระแสงปืนทรงพระสวัสดิ์

ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล่าถึงพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (พระราชพิธีสวัสดิมงคลประจำปี สวดอาฎานาฎิยสูตร และยิงปืนรอบกรุง) ทรงกล่าวถึงปืนที่ใช้ยิง ความว่า
“ครั้นตกมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทหารปืนทองปรายคงยิงอยู่ตามเดิมพวกหนึ่ง ถอนเกณฑ์หัดปืนแดงเอาทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรปยิงแทนอีกพวกหนึ่ง ครั้นเมื่อหล่อปืน มหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ ขึ้นพร้อมกันกับที่ทรงสร้างพระแสงปืนนพรัตน์ สำหรับเข้าพิธี ก็ทรงพระแสงปืนนพรัตน์ ซึ่งเป็นปืนอย่างที่เรียกว่าโก๊ อย่างเก่า ๆ ทรงยิงเองทางช่องพระแกลที่ 2 ด้านเหนือมุขตะวันออก เป็นสัญญาณให้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบ พระแสงปืนนพรัตน์นั้นไม่สู้สะดวกนัก จึงโปรดให้จัดพระแสงปืนหลัก ที่
สำหรับลงหน้าเรือพระที่นั่ง ขึ้นมาตั้งที่ชาลาหน้าพระมหาปราสาทตรงช่องพระแกลที่กล่าวมาแล้ว ล่ามสายไหมเบญจพรรณถักติดกับไกปืนขึ้นมาผูกกับพนักพระแกล เจ้าพนักงานประจุปืนอยู่ข้างล่าง เมื่อเวลาถึงกำหนดยิงก็ทรงกระตุกเชือกยิง พระแสงปืนหลักนั้นเป็นสัญญาณ ซึ่งให้เป็นสององค์ไว้นั้นเพื่อจะสับปรับ เมื่อไม่สับปรับก็ทรงทั้งสององค์ ภายหลังเมื่อพระแสงปืนใหญ่บรรจุท้าย ซึ่งได้เข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ ในครั้งแรกโปรดยิ่งนักได้ทรงทดลองที่ปทุมวันและที่ลานเทหลายครั้ง ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธี ก็โปรดให้มาตั้งที่ตรงหน้าพระแกลโยงเชือกขึ้นมาทรงกระตุกเป็นสัญญาณ พระแสงปืนหลักทั้ง 2 องค์นั้น ก็คงไว้ด้วย...”

หน้า 7 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13