การทหารเรือ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในความเจริญของกิจการทหาร และทรงมุ่งหวังให้การทหารเจริญทัดเทียมกับต่างประเทศ เพราะพระองค์ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนกันได้ ทรงทอดพระราชภาระให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเป็น “ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า” ทรงวางระเบียบแบบแผน ควบคุมการฝึกสอนและทรงอำนวยการต่อเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่เป็นเจ้าของเรือกำปั่นที่ทำด้วยเหล็กทั้งลำ คือ “เรือมงคลราชปักษี” ซึ่งเป็นเรือสกูนเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน (รอง ศยามานนท์ 2525 : 532)
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า ส่วนทหารเรือหน่วยอื่นที่ไม่ได้ขึ้นกับวังหน้า ให้ขึ้นกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สมุหพระกลาโหม ผู้ซึ่งมีความสามารถในกิจการทางทะเล และการต่อเรือได้จัดการต่อเรือกลไฟหลวงสำหรับใช้เป็นประโยชน์แก่ประเทศ โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงเรือรบจากกำปั่นรบใช้ใบมาเป็นกำปั่นรบกลไฟ และเรือรบกลไฟชนิดใช้จักรข้างจักรท้าย
เรือที่ต่อสำเร็จเวลานั้น ชื่อสยามอรสุมพลมีจักรข้างยาว 75 ฟุต เฉพาะเครื่องจักรและกลไกนั้นสั่งมาแต่ประเทศอังกฤษ ส่วนลำเรือนั้นต่อที่กรุงเทพฯ เมื่อได้เรือสยามอรสุมพลใช้ในทางราชการเป็นที่สบพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จัดการสร้างต่อไปอีกหลายลำ ส่วนเรือใบที่เคยต่อและใช้อยู่แต่ก่อนมีพระราชดำริจะเลิกเสีย

หน้า 10 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13