การปืนใหญ่ในรัชกาลที่ 4

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาและจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงกองทัพไทยให้ทันสมัยตามแบบยุโรป ทรงเห็นว่าปืนใหญ่เป็นอาวุธมีอำนาจในการทำลายสูงในระยะไกล แต่ต้องใช้เวลาฝึกหัดทหารให้ชำนาญในการใช้เป็นเวลานานนั้น แม้ว่าพระองค์จะทรงมอบให้เป็นพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไป แล้ว พระองค์ยังทรงจัดกองปืนใหญ่อาสาญวนขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนกองปืนใหญ่อาสาญวนที่โอนไปขึ้นกับวังหน้า

ในส่วนพระองค์ ทรงสนพระทัยในเรื่องปืนใหญ่ ทรงศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากเอกสารภาษาอังกฤษ จึงทรงทราบความก้าวหน้าของปืนใหญ่ในประเทศต่างๆ ทางยุโรป เมื่อคณะราชทูตไทยเดินทางไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศอังกฤษและ ฝรั่งเศส ได้มีพระราชหัตถเลขารับสั่งถึงจมื่นไวยวรนาถ (วร บุนนาค) ซึ่งอยู่ในคณะทูต (ดำเนิร เลขะกุล 2527 : 22) ความว่า

“...เจ้าหมื่นไวยวรนารถเอาใจใส่เสาะหาซื้อปืนอย่างหนึ่ง เรียกว่า อามสตรอง ซึ่งเป็นปืนใหญ่บรรจุข้างท้าย มาให้ข้าพเจ้าเล่นเองเป็นปืนทองเหลืองย่อม ๆ กระสุนตั้งแต่นิ้วหนึ่งขึ้นไปสองนิ้ว ลงมาสักกระบอกหนึ่ง ว่าเขาใช้อย่างไร แต่ก่อนนี้ไปเข้าได้สั่งปืนรบเนอกัมปนีให้เขาหามาให้ เขาก็ได้หามาให้ข้าพเจ้า เป็นปืนนิคแคมปาเตนกระบอกหนึ่งแล้ว ปืนนั้นข้าพเจ้าเอายิงเล่นเองก็ได้ ไม่น่ากลัวเหมือนปืนบรรจุทางปาก และบรรจุนวนไฟวุ่นวาย เพราะปืนนั้น ไฟข้างหลังไม่เห็นเลย ในลำกล้องปืนกระสุนกว้างนิ้วหนึ่ง ยาว 3 นิ้ว กระสุนแตกอย่างยาโกบก็มีมาด้วย ปืนนี้ยิงได้เร็ว 15 เซกันยิงได้นัดหนึ่ง ปืนอามสตรอง ถ้าเล็ก ๆ ไม่มี ก็จะคิดสั่งให้เขาทำขึ้นเป็นดังของเล่น เช่น ปืนรบเนอกัมปนีที่สั่งนั้นเถิด ปืนกระบอกนี้ รางก็เป็นทองเหลืองหล่อหนักสองหาบทั้งบอก เป็นงามนัก ราคา 1000 เหรียญเล็ก...”

หน้า 6 จากทั้งหมด 13 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13