พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระทนต์ปลอมไม่ต่ำกว่า 3 ชุด ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ต้องสูญเสียพระทนต์ทั้งหมด ทรงสวมพระทนต์ล่างปลอมทำด้วยไม้ฝางซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง แต่ไม่ทราบชื่อผู้ทำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ต่อมาใน พ.ศ. 2397 หมอบลัดเลย์ได้ทูลเกล้าฯถวายพระทนต์ปลอม ซึ่งเป็นของบรรณาการจาก หมอ ดี เค ฮิทช์คอค (Dr. D.K. Hitchcock) แห่งเมืองบอสตัน แต่พระทนต์ปลอมชุดนั้นทรงสวมได้ไม่สนิท และใน พ.ศ. 2410 ทันตแพทย์ชื่อ หมอคอลลินส์ (Dr. Collins) เดินทางจากประเทศจีนผ่านจากสิงคโปร์เข้ามากรุงเทพฯ หมอคอลลินส์ได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานเงินถึงพันเหรียญให้แก่ผู้ที่ประกอบพระทนต์ปลอมอย่างดีถวายแด่พระองค์ 1 ชุด หมอคอลลินส์ต้องประสบปัญหาที่พระองค์ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้หมอแตะต้องพระโอษฐ์ เนื่องในการที่จะต้องนำขี้ผึ้งเข้าไปพิมพ์แบบ หากแต่มีพระราชประสงค์จะทรงทำแบบด้วยพระองค์เอง จึงทำให้แบบพิมพ์ไม่สมบูรณ์ พระทนต์ปลอมที่หมอคอลลินส์ทำจึงสวมไม่พอดีกับพระโอษฐ์ ในที่สุดจึง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้หมอคอลลินส์ นำขี้ผึ้งพิมพ์แบบในพระโอษฐ์ได้ และพระทนต์ ปลอมชุดใหม่ที่ทำขึ้นก็เป็นที่พอพระทัยของพระบาสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระองค์ทรงยอมรับความเจริญทางทันตแพทย์ของชาติตะวันตก
ในบางครั้ง พระองค์ก็ทรงใช้ยาจากต่างประเทศ จะเห็นได้จากทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวที่สิงคโปร์ (มอฟแฟ็ท 2520 : 216) ความว่า

“...ข้าพเจ้ามีความจำเป็นอยากได้ยาแก้ไอมากกว่า 1 ขวด อย่างที่จัดส่งมาให้เมื่อไม่นานมานี้ ใคร ๆ ก็อยากได้ไปจิบ ข้าพเจ้าอยากได้มาอีกสัก 1 โหล หรือเพียง 6 ขวดก็ยังดี... ขอให้ได้อย่างของแท้...”

ด้านการสาธารณสุข พระองค์ทรงเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการรักษาที่อยู่อาศัย และถนนหนทางให้สะอาด มีพระราชดำริว่าคนไทยไม่รักษาความสะอาด โดยเฉพาะถ้าหากที่อยู่เป็นของหลวง และทรงเห็นด้วยกับชาวต่างประเทศเรื่องการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในน้ำ เช่น ซากสัตว์ สิ่งของ หรือขยะอื่น ๆ ลงในแม่น้ำว่าเป็นความสกปรก ไม่ควรกระทำและได้ทรงประกาศในประชุมประกาศ รัชกาลที่ 4 ภาค 3 83 (หอพระสมุดวชิรญาณ 2466 : 48) ความว่า

หน้า 2 จากทั้งหมด 4 หน้า
1 | 2 | 3 | 4