พระอัจฉริยะทางภาษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป เพราะตราบจนทุกวันนี้หนังสือหลักภาษาไทยยังบรรจุการสอนเรื่องกับ แก่ แต่ ต่อ ซึ่งนำมาจากพระบรมราชาธิบายของพระองค์ท่าน ดังจะยกพระบรมราชาธิบายในเรื่องนี้มาแสดงให้เห็นเป็นฐาน จากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2 179 (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 65) ความว่า

“ประกาศมาให้คนเขียนหนังสือทั้งปวงทราบทั่วแล้วสังเกตใช้ให้ถูกในที่ควรจะว่า (กับ) ว่า (แก่) ว่า (แต่) ว่า (ต่อ) ว่า (ใน) ว่า (ยัง) จงสังเกตให้แน่แล้วใช้ให้ถูก อย่าให้เป็นกันไปทุกแห่ง แลอย่างกลัว (กับ) งกเงิ่นไปฯ คนสองสามคน ขึ้นไปทำกิริยาเหมือนกันใช้ว่า กับ…ผัวอยู่กับเมีย นายไปกับบ่าวคนหนึ่งนั่งพูดเล่นกับคนหนึ่ง นายปรึกษากับบ่าว…อนึ่ง ถ้าเป็นของที่ไปด้วยมาด้วย อยู่ด้วย ได้มาด้วยเสียไป หายไปด้วยกัน ก็ว่ากับได้เหมือนหนึ่งคนไปกับย่ามของตัว ไปกับดาบแลปืนของตัวก็ว่าได้ คนมากับหาบสิ่งของ คนแก่มากับไม้เท้า คนมากับช้าง กับม้า กับโค กับกระบือ คนอยู่กับหีบผ้า ทองเก็บไว้กับเงิน ผ้ากับเสื้ออยู่ด้วยกัน… ของก็ดี สัตว์ก็ดี คนก็ดีอยู่ด้วยกัน ไปด้วยกัน ทำอะไรด้วยกัน ต้องที่จะออกชื่อด้วยกัน ว่ากับได้สิ้นคือ เงินกับทอง หม้อข้าวกับเชิงกราน บังเหียนกับม้า ตะพดกับโค…อะไรเป็นอันมากที่ไปด้วยกันมาด้วยกันอยู่ด้วยกัน ทำอะไรด้วยกันว่ากับได้หมด แต่ถวายแลให้แลรับ แลเรียกเอา บอกเล่า ว่ากับไม่ได้ เลยฯ..”

พระองค์ทรงพยายามดัดแปลงตัวอักษรและวิธีการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เหมือนอักษรและวิธีการเขียนหนังสือไทย เพื่อให้เหมือนอักษรของชาวยุโรป คือ สระและพยัญชนะอยู่บรรทัดเดียวกัน เรียงสระไว้หลังพยัญชนะ ตัวอักษรที่ได้ปรับปรุงแก้ไขนี้ เรียกว่า อักษรอริยกะ พระองค์โปรดให้ทดลองใช้กับพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต แต่อักษรอริยกะไม่แพร่หลาย เนื่องจากอักษรอริยกะเปลี่ยนรูปสระและพยัญชนะ และวิธีการเขียนเปลี่ยนไปจากอักษรไทยเดิม เหมาะกับการเขียนภาษาบาลีเท่านั้นไม่ช้าก็เลิกล้มไปไม่เป็นที่นิยม

หน้า 4 จากทั้งหมด 9 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9