ใส่บาตร ให้ใช้ว่า ตักบาตร
ใส่เสื้อ " สวมเสื้อ
ใส่กางเกง " นุ่งกางเกง
ใส่หมวก " สวมหมวก
ใส่ดุม " ขัดดุม
ใส่กุญแจ " ลั่นกุญแจ
ใส่ยา " ทายา
ใส่กลอน " ขัดกลอน
กะปิ " เยื่อเคย
น้ำปลา " น้ำเคย
พระองค์ทรงใส่พระทัยในเรื่องการใช้ภาษาไทยของคนไทยเป็นอันมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามิได้สนพระทัยแต่เรื่องความทันสมัยเท่านั้น ได้พระราชทานพระราชกระแสทักท้วง แนะนำ ตักเตือนคนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ จนถึงราษฎร ในเรื่องการเขียน การอ่าน การพูด และ การใช้ภาษาไทย หากเป็นผู้มีความรู้มากจะยิ่งทรงกวดขันเป็นพิเศษ เนื่องจากคนเหล่านี้จะเป็นอย่างแก่คนอื่น ๆ ต่อไป ขอยกตัวอย่างซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรงพิถีพิถันในเรื่องการใช้ศัพท์ให้ตรงกับความหมายจากประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 เล่ม 2 191 (กระทรวงศึกษาธิการ 2527 : 64) ความว่า
คำเรียกซากผีว่าศพนั้นถูกแล้ว ให้ใช้เขียนหนังสือแลกราบทูลว่าศพอยู่นั้นแล ใครอย่าอุตริคิดตามชาววัดคิดล้มไปเขียนบ้าง กราบทูลบ้างว่า "อสุภ อสภ อาสภ" อย่างใด ๆ อย่างหนึ่งเลย
คำว่า ศพนี้ออกจากคำมคธว่า ฉโวเป็นแท้ไม่ใช่คำอื่นฯ
พระองค์ไม่โปรดให้มี การพลิกแพลงการใช้คำมากเกินไป ทรงให้เลี่ยงคำหยาบและคำผวน เช่น ผักบุ้ง โปรดให้ใช้ว่า ผักทอดยอด เคยกริ้วเมื่อมีผู้เรียกดอกนมแมวว่า ดอกถันวิฬาร์ เรียกช้างว่าสัตว์โต ทรงมีพระราชดำรัสว่า พวกนี้เป็นพวกใจกระดุกกระดิกคิด
ผู้ใช้ภาษาไทยผิด ๆ ทรงมีวิธีลงโทษเพื่อให้จดจำได้ เช่น ทรงแช่งไว้ว่าให้ศีรษะคนนั้นล้านเหมือนหลวงตาในวันโกนเป็นนิจนิรันดร์ไป โปรดให้อาลักษณ์ปรับเสียคำละเฟื้อง จนกระทั่ง ให้กวาดชานหมากและล้างน้ำหมาก ทั้งในทั้งนอกท้องพระโรงพระบรมมหาราชวัง |