หลังจากที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย พระเกียรติคุณที่ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกและพระปฏิภาณ ในการแสดงพระธรรมเป็นที่เลื่องลือแพร่หลาย มีพระภิกษุสามเณรมาถวายตัวเป็นศิษย์ บรรดาคฤหัสถ์เลื่อมใสไปถือศีลฟังธรรมมากขึ้น การสอนตามแบบธรรมยุติที่เน้นความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้กระแสสังคมที่ชาชินต่อความประพฤต ิที่หย่อนยานของพระสงฆ์ในขณะนั้น ได้หันมาสนใจและเลื่อมใสในแนวทางปฏิบัต ิของพระสงฆ์นิกายธรรมยุติขึ้นมาก (เทอดพงศ์ คงจันทร์ 2547 : 70) ทำให้พระองค์เป็นที่รู้จักและจดจำสำหรับเหล่าขุนนางและประชาชนได้อย่างไม่ลืมเลือน ซึ่งเรื่องนี้แม้กระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงมีพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงกุศโลบายทางการเมืองในครั้งนั้นของพระบรมราชชนกของพระองค์ว่า

“…ทูลกระหม่อมทรงตั้งพระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายเป็นการต่อสู้อย่างยิ่งมิใช่เล่น ...” (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2503 : 10-11 อ้างถึงในเทอดพงศ์ คงจันทร์ 2547 : 71) อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงได้รับการเพ็ดทูลจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่ใกล้ชิดเสมอว่า การกระทำของวชิรญาณภิกขุอาจเข้าข่ายการซ่องสุมผู้คนและเป็นภัย พระองค์ทรงพระราชดำริเห็นชอบ ตามคำปรึกษาของพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา(ทัต บุนนาค) โดยโปรดให้ทูลเชิญวชิรญาณภิกขุ เสด็จมาอยู่เสียใกล้ๆ เพื่อระงับความสงสัยต่างๆ ให้หมดไป (เทอดพงศ์ คงจันทร์ 2547 :70) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ณ วัดราชาธิวาส ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2379 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎ ฯ ขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง แล้วเชิญเสด็จมาครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ 32 พรรษา และทรงผนวชได้ 12 พรรษา พระองค์ทรงจัดระเบียบการคณะสงฆ์ การปกครองวัด การอบรมฆราวาสที่เข้าวัด ระเบียบสำคัญทั้งหลายดังกล่าวนี้ได้ยึดถือปฏิบัติกันสืบมาถึงปัจจุบัน ทรงปรับปรุงการศึกษา พระปริยัติธรรมอย่างจริงจัง ปรากฏว่าพระสงฆ์ที่วัดบวรนิเวศวิหารสอบได้เปรียญประโยคสูง ๆ เป็นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าฟ้ามงกุฎฯ มีตำแหน่งในคณะมหาเถระ ผู้สอบปริยัติธรรมในสนามหลวง ต่อมาได้ทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรม เป็นสิทธิ์ขาดแก่พระองค์ตลอดรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อมใสในทางวัตรปฏิบัติ และความรู้ของพระสงฆ์คณะธรรมยุต ไม่โปรดอยู่อย่างเดียว คือการห่มผ้าแหวกอย่างพระมอญ จนใกล้จะสวรรคตจึงได้มีรับสั่งในเรื่องนี้

หน้า 5 จากทั้งหมด 14 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14