จิตรกรรมแบบประเพณีภายในพระอุโบสถและวิหารวัดเสนาสนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นฝีมือช่างสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ที่มีลักษณะและรูปแบบซึ่งต่างกับแบบขรัวอินโข่ง แสดงการเขียนตามหลักทัศนียวิทยา ใช้อาคารสถาปัตยกรรม เช่น พระอุโบสถ และพระวิหารของวัด หรือพระบรมมหาราชวังในสมัยนั้น ให้ส่วนสัดรูปบุคคลในภาพดูสมจริง ตามธรรมชาติที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แทนปราสาทราชวังและตัวภาพ ตามแบบประเพณีนิยมที่ทำกันมาแล้วหลายสมัย ตัดเส้นด้วยสีหนักดูแข็งแรง มิได้ตัดเส้นริ้วน้ำ หรือต้นไม้ใบไม้เป็นใบ ๆ เหมือนแบบเก่า มีความรู้สึกอิสระให้ชีวิตเป็นธรรมชาติ เป็นวิธีการเขียนภาพแบบใหม่ผสมกับแบบเก่าที่น่าสนใจ จิตรกรรมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งเป็นแบบเก่าแท้อยู่ที่วัดชิโนรสาราม กรุงเทพมหานคร จะเขียนพื้นท้องฟ้า สีดำ บรรยากาศสีทึม ๆ เพราะใช้พื้นสีดำทั่วไปแบบเดียวกับวัดทองนพคุณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของจิตรกรรมแบบประเพณีในสมัยนี้
ภาพ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชขณะทรงบัญชาการรบ” เป็นจิตรกรรมฝาผนัง
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดย ขรัวอินโข่ง ในหอพระราชกรมานุสรณ์
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

หน้า 2 จากทั้งหมด 7 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7