ประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพบ้านเมืองเริ่มพัฒนาเจริญก้าวหน้าทุก ๆ ด้าน และเปิดสัมพันธไมตรีกับต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะชาวตะวันตก ได้นำความรู้วิทยาการ ศิลปะ และวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชีวิตและความนิยมในสังคมปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย จิตรกรรมไทยได้นำวิธีเขียนภาพแบบตะวันตกมาผสมผสาน โดยใช้กฎเกณฑ์ทัศนียวิทยา มีระยะใกล้ไกล แสดงความลึกในแบบ 3 มิติ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบให้บรรยากาศและสีสันประสานสัมพันธ์กับรูปแบบตัวภาพปราสาทราชวัง และเรื่องที่เกี่ยวกับคติทางพุทธศาสนา จึงนับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีแนวใหม่แสดงลักษณะศิลปะแบบอุดมคติ และศิลปะแบบเรียลลิสท์ ที่ประสานกลมกลืนเป็นเอกภาพขึ้นมีความสวยงาม ผลงานชิ้นสำคัญ ได้แก่ ภาพเขียนฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ว วังหน้า) พระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม กรุงเทพมหานคร พระอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา อุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง และพระอุโบสถวัดโปรดเกศเชษฐาราม จังหวัดสมุทรปราการ ฯลฯ
จิตรกรเอกผู้สร้างสรรค์ผลงานอันยิ่งใหญ่ ปรากฏเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือ พระอาจารย์อินโข่ง หรือขรัวอินโข่ง เป็นจิตรกรที่ถือเพศบรรพชิตตลอดชีวิต ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรหัวก้าวหน้า ผู้พัฒนาแนวทางจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังในแนวความคิดใหม่ โดยนำเอารูปแบบจิตรกรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คน การแต่งกาย ตึกรามบ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงา บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะ และความลึกมาใช้อย่างสอดคล้องกับเรื่องที่ได้แสดง ออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม งานจิตรกรรมลักษณะนี้ ยังเหลือให้ศึกษาได้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร และ พระอุโบสถวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร ส่วนจิตรกรรมแบบประเพณีประยุกต์ ได้แก่ จิตรกรรมภายในพระอุโบสถ วัด พระศรีรัตนศาสดาราม หอราชกรมานุสรณ์ หอราชพงศานุสร ในพระบรมมหาราชวัง และต่างจังหวัดที่พระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี มณฑปวัดพระงาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่ง เป็นงานจิตรกรรมที่มีคุณค่าของจิตรกรเอก ผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะสมัยใหม่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ |