ละครนายเนตร นายต่าย นายเนตรเดิมเป็นละครคุณหญิงกลีบภรรยาพระยาประจักษ์วรวิไสย นายต่ายเดิมเป็นละครกรมหมื่นภูมินทรภักดี เมื่อทรงเลิกเล่นละครนายต่ายจึงมาผสมโรงกับนายเนตร แล้วถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อเสด็จประทับอยู่ที่ พระตำหนักสวนกุหลาบ
กระบวนเล่นละครโรงนี้ เป็นที่เลื่องลือมา ตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ถึง รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ หลังจากท่านทั้งสองสิ้นชีวิต นายปลื้มอยู่วัดอรุณฯ เป็นน้องภรรยานายเนตร ยังคุมพวกละครเล่นต่อมา

ละครชาตรีของหลวง เป็นละครชาตรีของ ผู้หญิง ทั้งโรง เดิมเป็นละครพระองค์เจ้าปัทมราช พระราชธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้พระ-ราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จออกไปรักษาพยาบาล เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก(ธิดาเจ้าพระยานครพัฒน์) พระมารดา ที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้ทรงหัดละครขึ้นโรงหนึ่งเล่นเรื่องอิเหนา ครั้นเจ้าจอมมารดาถึงอนิจกรรมแล้ว เสด็จกลับมากรุงเทพฯ พาละครโรงนั้นเข้ามาด้วยแล้วทูลเกล้าฯ ถวายเป็นมรดกแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้เล่นเป็นละครชาตรี จึงมีละครชาตรีของหลวงขึ้น

ละครชาตรีของนายหนู บ้านอยู่สนามควาย (นางเลิ้ง ปัจจุบัน) เล่นอย่างละครโนราชาตรี นครศรีธรรมราช ผิดกันแต่ตัวนายโรงใส่ชฎา ไม่ใส่เทริด ตัวนาง แต่งตัวอย่างละครในกรุง (แต่งแบบละครนอก)

ละครนายเสือ เล่นแบบละครมะย่ง แต่งตัวแบบมลายู ร้องเป็นภาษามลายูแต่เจรจาเป็นภาษาไทย เล่นเรื่อง อิเหนาใหญ่ มาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เล่นละครได้อย่างเสรี พวกละครจึงเอาบทพระราชนิพนธ์ละครนอกไปเล่น ทำให้แพร่หลาย การหัดละครผู้หญิงเกิดขึ้นมากมายหลายโรง เจ้าของละครต่างแสวงหาเรื่องเล่นละครของตนให้แปลกใหม่กว่าโรงละครอื่น จึงทำให้เกิดบทละครขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก วิวัฒนาการละครในรัชกาลนี้ กล่าวได้ว่าเฟื่องฟูและนับได้ว่าเป็นยุคทองของศิลปินที่เป็นผลสืบเนื่องมากระทั่งทุกวันนี้

หน้า 8 จากทั้งหมด 8 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8