“ การ ทำลายพวกหนู ซึ่งคอยกินข้าวในขณะที่ข้าวสุก เมล็ดข้าวได้ถูกทำลายร่วงลงดิน ประชาชนไม่สามารถที่จะแสวงหาสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน เห็ดโคน หรือหัวมันขนาดหัวเขื่องๆ ซึ่งหัวหนึ่งจะพอสำหรับคนหนึ่งคนกินได้ พวกแมลงพากันมารุมตอมซากศพ ทำให้อากาศมืดครึ้ม และมนุษย์ต้องขับเคี่ยวกับ แมลง พวกนี้ไม่สิ้นสุด ”

9.2 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงแก้ไขปัญหาด้านปากท้องของราษฎรอย่างไร ?
พระราชกรณียกิจในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

9.2.1 การแก้ปัญหาความอดอยากขาดแคลนของราษฎร (ในระยะสั้น)
ปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่งเฉพาะหน้า ที่จะต้องดำเนินการโดยรีบด่วนทันที ก็คือการแก้ไขความอดอยากขาดแคลน เครื่องอุปโภคบริโภคของราษฎร สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงดำเนินการด้วยวิธี จ่ายพระราชทรัพย์ เป็นจำนวนมาก ซื้อข้าวสาร ที่พ่อค้าต่างประเทศบรรทุกสำเภาเข้ามาขาย โดยให้ราคาสูงเป็นพิเศษ ถึงถังละ 3-5 บาท บางคราวก็ถึงถังละ 6 บาท ซึ่งนับว่าแพงมากเหลือเกิน สำหรับในครั้งนั้น เพราะถ้าหากเทียบกับค่าของเงินในปัจจุบันแล้ว ก็ตกถึงถังละร่วม 2,000 บาท แล้วก็ทรงนำข้าวสารเหล่านั้นมาแจกจ่ายพระราชทาน แก่บรรดาราษฎรที่อดโซนับจำนวนหมื่นโดยทั่วหน้ากัน ตลอดถึงข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ต่างก็ได้รับพระราชทานอย่างทั่วถึง ในอัตราคนละ 1 ถัง ต่อ 20 วัน (สุจิตต์ วงศ์เทศ, 2545 : 130) พร้อมกันนั้น ยังได้โปรดให้ ซื้อเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม แจกจ่ายพระราชทานอีกด้วยเป็น จำนวนมากมาย ยังผลให้ความเดือดร้อนของอาณาประชาราษฎร ได้บรรเทาเบาบางลงทันที

สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงได้เงินมาจากที่ใดเพื่อมาซื้อข้าวปลาอาหารแจกราษฎรและกองทัพ ?
สำหรับเงินทองที่ทรงนำมาใช้จ่ายในการซื้อหาเครื่องอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแก่ประชาชนนั้น พระองค์ทรงใช้วิธีส่งขุนนางไปประจำที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อทำหน้าที่จัดระเบียบเกี่ยวกับการขุดสมบัติ และการเก็บภาษีอากรจากทรัพย์สินที่ขุดได้ (ภารดี มหาขันธ์ , 2526 : 29-30) และทรงใช้พระราชทรัพย์ที่ยึดได้จากพม่า ซื้อข้าวสารจากสำเภาต่างชาติ ปันส่วนแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน