หมายเหตุ : พระตำหนักในพระราชพงศาวดารนั้นก็คือ ศาลาการเปรียญ หลังนี้เป็นแน่แท้ เพราะวัดมะกอกในสมัยนั้นก็เป็นวัดเล็กๆ กุฏิวิหารก็คงไม่ใหญ่โตเหมือนวัดในปัจจุบัน ศาลาการเปรียญดูจะใหญ่โตกว้างขวางกว่าอย่างอื่น
หลักฐานที่ยังคงเหลือในปัจจุบันคือ พระแท่นของพระองค์เป็นกระดานแผ่นเดียวที่มีความกว้าง 17 นิ้วฟุต และมีความยาว 120 นิ้วฟุต (ปัจจุบันพระแท่นดังกล่าวอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม) ส่วนพระแท่นบรรทมสีหไสยาสน์ (ปัจจุบันพระแท่นนี้อยู่ที่วัดอินทาราม) นั้นก็เป็นไม้กระดานกว้างแผ่นละ 88 เซนติเมตร หนา 5 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร 487 เซนติเมตร ตกแต่งด้วยลูกกรงงาช้าง (สุรีย์ ภูมิภมร, 2539 : 78)
เหตุที่จะเสด็จไปเมืองจันทบุรี เห็นจะเป็นเพราะเมืองจันทบุรีมีกำแพง และบ้านเมืองยังอุดมสมบูรณ์ ผู้คนยังไม่อดอยากดูเวทนาเหมือนอย่างที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารข้างต้น แต่ถ้าเสด็จไปเมืองจันทบุรีจริงๆ ก็ดูประหนึ่งว่าทรงทอดทิ้งประชาชน ที่กำลังอดอยากให้ล้มตายไว้เบื้องต้นเพราะ ครั้งนั้นยังหาผู้ที่จะทำนามิได้ อาหารกันดาร ข้าวสารสำเภาขายถังละ 3 บาทบ้าง ถังละตำลึงหนึ่งบ้าง ถังละ 5 บาทบ้าง
ก็ผู้คนครั้งนั้นเหลือแต่ตัว จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อ และผู้คนก็มากมายมากกว่าหมื่น การที่จะทรงละทิ้งหลีกหนีไป คนเหล่านั้นก็จะตายอย่างไม่เป็นปัญหา และการที่จะพาคนที่หมดเรี่ยวแรงไปไกลๆ เช่นนั้น นอกจากจะเร่งให้ตา ย เร็วขึ้นแล้ว ก็จะต้องหายานพาหนะเพิ่มขึ้นอีก เข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้คงจะทำให้ต้อง เสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี และต้องทรงรับภาระเลี้ยงดูผู้คนเป็นจำนวนมาก เฉพาะข้าราชการทหารพลเรือนไทยจีนนั้น รับพระราชทานข้าวสารเสมอคนละถัง กินได้คนละ 20 วัน (ส.พลายน้อย , 2543 : 61-62)
8.3 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ปราบดาภิเษกเมื่อไร ? ทรงพระนามว่าอะไร ?
ต่อจากนั้นเจ้าตากทรงพารี้พลครอบครัวราษฎรกับทั้งพระราชวงศ์ (เจ้าตากทรงให้เที่ยวสืบหาพวก พระญาติพระวงศ์ ของพระองค์ซึ่งพลัดพรากจากกันไป ไปได้มาแต่เมือง ลพบุรี ทรงให้รับลงมายังเมืองธนบุรี (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 177) และข้าราชการกรุงเก่าซึ่งยังเหลือตกค้างอยู่ที่ค่ายโพธิ์สามต้นอพยพมายังธนบุรี แล้วยก เมืองธนบุรี ขึ้นเป็น กรุงธนบุรี ศรีมหาสมุทร ตั้งเป็นราชธานี ใน พ.ศ.2311 สร้างพระราชวังขึ้นที่ปากคลองบางกอกใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่การดูแลของกองทัพเรือ รู้จักกันในนามพระราชวังเดิม)
|