8.1 เหตุใดสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงไม่ครองราชย์ที่กรุงศรีอยุธยา ?
เมื่อเจ้าตากถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระประสงค์ที่จะปฏิสังขรณ์พระนครศรีอยุธยาให้เป็นราชธานีดังก่อน จึงขึ้นทรงช้าง พระที่นั่งเที่ยวทอดพระเนตร ในบริเวณราชวังและประพาสตามท้องที่ในพระนคร เห็นประสาทราชมณเฑียรตำหนักใหญ่น้อย ทั้งอาวาสวิหารและบ้านเรือนชาวพระนครถูกข้าศึก เผาทำลายเสียเป็นอันมาก ที่ยังดีอยู่นั้นมีน้อย ก็สังเวชสลดพระทัย
ในวันนั้นเสด็จเข้าไปประทับแรมที่พระที่นั่งทรงชัย อันเป็นท้องพระโรงที่เสด็จออกข้างท้ายวังมาแต่ก่อน เจ้าตาก ทรงพระสุบิน ว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมาขับไล่ไม่ให้อยู่ ครั้งรุ่งเช้าจึงเล่าพระสุบินให้ข้าราชการทั้งปวงฟังแล้วดำรัสว่า
เราคิดสังเวชเห็นว่าบ้านเมืองจะรกร้างเป็นป่า จะมาช่วยปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงให้บริบูรณ์ดีดังเก่า เมื่อเจ้าของเดิมท่านยังหวงแหนอยู่ฉะนี้ เราชวนกันไปสร้างเมืองธนบุรีอยู่เถิด
(รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ , 2537 : 31)
วีณา โรจนราธา (2540 : 91) ได้วิจารณ์เกี่ยวกับ การเล่าพระสุบิน ไว้ว่า การเล่าความฝันเช่นนี้ อาจเป็นหลักจิตวิทยาอันสูงส่งของพระเจ้าตากก็เป็นได้ ด้วยการย้ายกรุงจากพระนครศรีอยุธยาไปยังกรุงธนบุรีในเวลานั้น ชอบด้วยเหตุผลหลายประการ
เจ้าตากนั้นทรงมีคุณธรรมอันประเสริฐอย่างหนึ่งคือพระปรีชาสามารถที่ทรงเป็นผู้นำที่ดี และทรงยอมฟังความเห็นของผู้อื่นตลอดจนประชาราษฏร์ทั้งปวง ด้วยทรงตระหนักดีว่าชาวไทยทั้งมวลยังคงให้ความเคารพพระบรมวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยาอยู่ และความรู้สึกของคนไทยสมัยนั้น ยังคงฝังแน่นอยู่กับราชธานีเดิมเป็นของธรรมดา แต่สภาพการณ์ในขณะนั้นไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง จึงทรงพยายามชักจูงใจประชาชนด้วยเหตุต่างๆ ทางอ้อม เพราะพระองค์ทรงเป็นนักจิตวิทยา อย่างยอดเยี่ยมนั่นเอง ( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 13-14)
|