1. การยึดป้อมวิชัยประสิทธิ์ ( เมืองธนบุรี ) ครั้นปลายเดือนตุลาคม พ.ศ.2310 กองเรือใหญ่น้อย 100 ลำ เรือลำหนึ่งจุทหารได้ราว 100 คน (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 159 ) บรรทุกเสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ พร้อมกับทหารไทยจีนอีก 4,000 คน ออกจากปากน้ำจันทบุรี เข้าอ่าวไทยมุ่งเข้าปากน้ำเจ้าพระยา เมื่อขบวนเรือก่อนถึงป้อมวิชัยประสิทธิ์ แผนการยกพลขึ้นบกเพื่อยึดป้อม ปฏิบัติตามแผนทุกประการ เมื่อได้ป้อมวิชัยประสิทธิ์แล้ว การเคลื่อนย้ายต่อไปคงใช้เรือตลอดลำน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงที่หมาย การเริ่มเข้าตีและยึดค่ายต่างๆ ขั้นแรกเจ้าตากทรงใช้การยกพลขึ้นบกเกือบทุกแห่ง เพื่อความเข้าใจในเหตุการณ์นี้ขอคัดจาก หนังสือไทยรบพม่า ให้ทราบดังนี้

“ ฝ่ายนายทองอินทร์ หรือบุญสง ( ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2543 : 3) ซึ่งพม่าให้ตั้งรักษาเมืองธนบุรีรู้ว่าเจ้าตาก ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำ ก็ให้รีบขึ้นไปบอกแก่สุกี้แม่ทัพที่ค่ายโพธิ์สามต้น แล้วเรียกคนขึ้นรักษาป้อมวิชัยประสิทธิ์และหน้าที่เชิงเทินเมืองธนบุรีคอยจะต่อสู้ ครั้นกองทัพเจ้าตากยกขึ้นมาถึง พวกรี้พลรักษาหน้าที่เห็นว่าเป็นกองทัพไทยยกมา ก็ไม่เป็นใจที่จะต่อสู้ รบพุ่งกันหน่อยหนึ่ง เจ้าตากก็ตีเมืองธนบุรีได้ จับนายทองอินทร์ได้ ให้ประหารชีวิต ”

2. การยึดค่ายโพธิ์สามต้น เจ้าตากเร่งกองทัพขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายสุกี้แม่ทัพพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ได้ทราบความจากคนที่นายทองอินทร์ให้ไปบอกข่าว ไม่ช้าพวกที่แตกหนีไปจากเมืองธนบุรีตามไปถึง บอกสุกี้ว่าเสียเมืองธนบุรีแก่ไทยแล้ว สุกี้ได้ทราบก็ตกใจ ให้รีบเตรียมรักษาค่ายโพธิ์สามต้น และเวลานั้นเป็นฤดูฝนสุกี้เกรงว่ากองทัพไทยจะขึ้นไปเสียก่อนเตรียมต่อสู้พรักพร้อม จึงให้มองญ่า ( หรือมองย่า ) นายทัพรองคุมพลพวกมอญและไทยที่ไปยอมอยู่ด้วย ยกเป็นกองทัพเรือลงมาตั้งสกัดคอยต่อสู้อยู่ที่เพนียด เจ้าตากยกขึ้นไปถึงกรุงศรีอยุธยาในค่ำวันนั้น ได้ความว่ามีกองทัพข้าศึกลงมาตั้งอยู่ที่เพนียด ยังไม่ทราบว่ากำลังข้าศึกจะมากน้อยเท่าใดก็ตั้งอยู่ ฝ่ายพวกไทยที่มาในกองทัพมองญ่ารู้ว่ากองทัพไทยด้วยกันยกขึ้นไป ก็รวนเรจะหลบหนีไปบ้าง จะมาเข้ากับเจ้าตากบ้าง มองญ่าเห็นพวกไทยไม่เป็นใจต่อสู้ข้าศึก เกรงจะพากันเป็นกบฏขึ้น ก็รีบหนีเอาตัวรอดกลับไปค่ายโพธิ์สามต้นในค่ำวันนั้น