ที่เป็นชั้นหลานเธอคือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ( เจ้าฟ้ากุ้ง ) องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทร องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ามณี ธิดาของกรมหมื่นเสพภักดีองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจีด องค์หนึ่ง รวม 4 องค์ เจ้านายทั้ง 8 องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรหนัก จึงยังมิได้ส่งไปเมืองอังวะ เจ้าตากทราบก็มีความสงสาร และแต่ก่อนมาเมื่อเจ้าตากได้เมืองจันทบุรีนั้น ก็ได้พบพระองค์เจ้าทับทิม ราชธิดาพระเจ้าเสือพระองค์หนึ่ง ซึ่งพวกข้าพาหนีไปเมืองจันทบุรี เห็นจะเป็นเพราะเจ้าจอมมารดาเป็นญาติกับพระยาจันทบุรี เจ้าตากก็อุปการะทำนุบำรุงไว้ จึงจัดที่ให้เจ้านายประทับตามสมควร ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ( พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้า 603-604 ) ตอนหนึ่งว่า

“… ตรัสสั่งมิให้ทหารทำการอันตรายเบียดเบียนแก่ไพร่ฟ้าประชากรทั้งปวง ครั้นตรัสเห็นขัตติยวงศ์บูราณ เสนาบดีซึ่งอนาถาได้รับความทุกข์เวทนาลำบาก ก็พระราชทานเสื้อผ้าต่างๆ แก่พวกนายกอง และเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นอันมาก แล้วจึงเชิญเสด็จพระบรมศพพระที่นั่งสุริยา มรินทร์แห่แหนมา ณ โพธิ์สามต้น ถวายพระเพลิง และพระราชทานฐานาศักดิ์แก่เสนาบดีให้คงอยู่กับนายกองดังเก่า อนึ่งแต่งให้ขึ้นไปเกลี้ยกล่อม ณ เมืองลพบุรี สำเร็จแล้วให้รับบูราณขัตติยวงศา ซึ่งได้ความลำบากลงมาทำนุบำรุง ณ เมืองธนบุรี …”

เจ้าตากโปรดให้ปล่อยคนทั้งปวงที่ถูกพม่ากักขังไว้ แล้วแจกจ่ายทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคประทานให้พ้นทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งนั้น แล้วจึงให้ปลูกเมรุคาดผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง และให้สร้างพระโกศเครื่องประดับสำหรับงานพระบรมศพตามกำลังที่จะทำได้ ครั้นเตรียมการพร้อมเสร็จ เจ้าตากจึงเสด็จเข้ามาตั้งพลับพลาอยู่ในกรุงฯ ให้ขุดพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศน์อัญเชิญลงพระโกศ ประดิษฐานที่พระเมรุสร้างไว้ให้ เที่ยวหาพระสงฆ์ซึ่งยังมีเหลืออยู่ นิมนต์มารับทักษิณานุประทานและสดับปกรณ์ตามประเพณี แล้วเจ้าตากกับเจ้านายในพระราชวงศ์เดิมและข้าราชการทั้งปวงก็ถวายเพลิงพระบรมศพ และประจุพระอัฐิธาตุตามเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมา ( สนั่น ศิลากรณ์, 2531 : 64-69)

หมายเหตุ : ยังมีหลายๆ ท่านที่เข้าใจเรื่องสถานที่ตั้งชื่อ โพธิ์สามต้น คลาดเคลื่อน มีหนังสือของสถาบันแห่งหนึ่งได้กล่าวถึงความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารการกินของธนบุรี และด้วยความสมบูรณ์ดังกล่าวเนื้อหาในหนังสือนั้นได้เข้าใจผิดว่า “… พม่าได้แต่งตั้งให้สุกี้เป็นนายกองพม่ามาตั้งค่ายที่โพธิ์สามต้นกรุงธนบุรี เพื่อสะสมเสบียงอาหารและไพร่พล …” เรื่องความเข้าใจทำนองนี้อาจมีขึ้นอีกและนำไปอ้างอิงในการเขียนประวัติศาสตร์ต่อๆ กันไปไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งผู้มีความประสงค์ในการทัศนาจรจะได้ไม่สับสน จึงเสนอสถานที่ตั้งโพธิ์สามต้นทั้งสองแห่งดังนี้