6.3 ทำไมสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จึงทรงตัดสินใจที่จะตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ?
กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ประมาณ 2 ปี พระยาวชิรปราการคาดการณ์ว่า กรุงศรีอยุธยาคงจะต้องแตกแน่ เพราะกำลังหนุนของพม่านั้นใหญ่หลวงนัก แต่การป้องกันรักษาพระนครก็อ่อนแอ อีกทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมรบและร่อยหรอลงไป ทั้งพระมหากษัตริย์ก็มิได้ใฝ่พระทัยที่จะคิดอ่านแก้ไขแต่ประการใดคงปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามยถากรรม ราษฎรก็ขวัญเสียระส่ำระสาย ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 40 ) ประกอบกับทัพพระยาวชิรปราการขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก ถ้าสู้รบต่อไปก็เท่ากับพาทหารไปตายอย่างไร้ประโยชน์ จึงได้วางแผนตีฝ่าวงล้อมพม่า เพื่อไปสะสมเสบียงอาหาร กำลังคน และอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาในภายหน้า ซึ่งจะดีกว่าอยู่ แล้วต้องตายอย่างไร้สติปัญญา (พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดจันทบุรี, 2542 : 20 ; http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_millitaryact.html , 22/11/45)

6.4 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงพากองทหารตีฝ่าออกมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อไร ?
พระยาวชิรปราการ ( สิน ) ตัดสินใจรวบรวมสมัครพรรคพวกทั้งไทยและจีนได้ 500 คน ( ในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ ( เจิม ) กล่าวว่ามีทหารไทยจีนประมาณ 1,000 เศษ ) มีนายทหารร่วมใจคือ พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี และหมื่นราชเสน่หา ( ทวน บุณยนิยม , 2513 : 40) ยกออกจากค่ายวัดพิชัย ในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 6 ค่ำ ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1128 เวลาย่ำค่ำ ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2310 ( ก่อนเสียกรุง 3 เดือน ) ตีฝ่าพม่าข้าศึกออกไปทางทิศตะวันออก ( หรือตะวันออกเฉียงใต้, ประพัฒน์ ตรีณรงค์ , 2524 : 14) ไปทางบ้านหันตรา บ้านข้าวเม่า เพราะพม่ามิได้ล้อมประชิดอยู่ มีแต่ตั้งทัพห่างออกไปและมีทหารพม่าจำนวนไม่มากนัก ( http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_millitaryact.html 22/11/45 และพงศาวดารกรุงเก่า หน้า 69 )