6.5 เมื่อตีฝ่ากองทัพพม่าออกมาได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกทัพต่อไปที่ไหนบ้าง ?
เมื่อพระยาวชิรปราการ ( สิน ) ( คือสมเด็จพระเจ้าตากสินในเวลาต่อมา ) และพรรคพวกออกจากค่ายวัดพิชัย ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังของพม่าที่อยู่ทางตะวันออกของวัดพิชัย ด้วยความรุนแรงรวดเร็ว ซึ่งเป็นคุณลักษณะการรบของทหารราบกับทหารม้าของพระองค์ กำลังส่วนนี้จึงตีฝ่าพม่าไปได้ และมุ่งไปทางตะวันออก

ภารดี มหาขันธ์ (2526 : 18-19) ได้เสนอแนวคิดถึงสาเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมุ่งหน้าไปรวบรวมไพร่พลทางชายทะเลตะวันออก ดังนี้

สาเหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จมุ่งหน้าไปรวบรวมไพร่พลทางชายทะเลตะวันออก น่าจะพิจารณาได้ดังนี้คือ

1. บริเวณหัวเมืองชายทะเลตะวันออกเป็นบริเวณที่ยังมีกำลังไพร่พล อาวุธยุทธภัณฑ์ และเสบียงอาหารบริบูรณ์พอที่จะรวบรวมเป็นกำลังรบกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้อีก
2. หัวเมืองแถบนี้มิใช่เส้นทางที่พม่าเดินทัพผ่าน จึงไม่บอบช้ำ และพม่าไม่ชำนาญเส้นทาง ทางนี้ด้วย
3.ในขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกพม่าล้อมอยู่นั้น บรรดาพ่อค้าจีนได้เดินทางเข้ามาค้าขายยังบริเวณ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก แทน โดยเฉพาะในแถบเมืองจันทบุรีและตราด เมื่อพ่อค้ายอมรับอำนาจของพระองค์ พระองค์ก็จะได้รับการสนับสนุนทางการเงิน นอกจากนั้นยังจะสะดวกในการติดต่อซื้ออาวุธ และอาหารเพิ่มเติม
4. หัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออกอยู่ไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยามากนัก ทั้งยังสามารถใช้เส้นทางทางน้ำติดต่อกันได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีคงจะทรงคาดว่าถ้ายกกองทัพย้อนกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา โดยไม่ให้พม่ารู้ตัวจะได้ทำได้สะดวกโดยใช้เส้นทางทางน้ำ นอกจากนั้นถ้าเกิดพลั้งพลาดถูกพม่าโจมตีสู้ไม่ได้ ก็อาจจะหลบเข้าไปในเขตแดนเขมรได้

พม่ามิได้ลดละติดตามกองกำลังของพระยาวชิรปราการ ( สิน ) การรบติดพันสู้พลางถอยพลาง จนดึกการต่อสู้จึงเพลาลง และช่วงเวลานั้นเกิดไฟไหม้กรุงศรีอยุธยา แสงเพลิงลุกโชติช่วงเห็นได้ระยะไกล พระยาวชิรปราการ (สิน) ไปถึง บ้านโพธิ์สาวหาญ ( หรือโพธิ์สังหาร แต่พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับจันทนุมาศว่า โพสามหาว หรือโพสังหาร ) คงจะดึกมากแล้ว ตอนเช้าตรู่วันนั้นท่านได้ เห็นทหารพม่ามุ่งมายังหมู่บ้าน จึงจัดกำลังเข้าต่อสู้ ณ บริเวณทุ่งระหว่างวัดกับหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รวมกำลังร่วมรบกับพระยาวชิรปราการ อย่างพร้อมเพรียงกันจนได้รับชัยชนะ ฆ่าฟันพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่เหลือถอยหนีกลับไป