ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า พระนายกองออกมาสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตาก ซึ่งภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธได้ให้คนมาเกลี้ยกล่อมให้ขึ้นไปอยู่ที่พิมายด้วยกัน พระนายกองลอบหนีไปเข้าด้วยกับกรมหมื่นเทพพิพิธ ต่อมาเมื่ อสมเด็จ พระเจ้าตาก ฯ ได้ขึ้นไปปราบชุมนุมกรมหมื่นเทพพิพิธที่นครราชสีมาได้แล้ว พระนายกองก็ถูกประหารชีวิตในครั้งนั้นด้วย (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 171)

5.4 หลังกรุงศรีอยุธยาแตกมีชุมนุมต่างๆ อะไรบ้าง มีหัวหน้าชุมนุมชื่ออะไร ? ตั้งชุมนุมที่ใด ?
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วบ้านเมืองอยู่ในสภาพระส่ำระสายเกิดแตกแยก เมื่อไม่มีพระมหากษัตริย์ หัวเมืองต่างๆ ตั้งตัวเป็นใหญ่ ต่างคนต่างรวบรวมพรรคพวกตั้งเป็นก๊กหรือชุมนุมขึ้น ที่เป็นชุมนุมใหญ่ทั้งหมดมี 6 ชุมนุม คือ

1. ชุมนุมพม่า ซึ่งภายหลังที่ได้ชัยชนะจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว พม่าไม่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาโดยตรง แต่ได้แบ่งกำลังไว้ควบคุมคนไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.1 กลุ่มสุกี้พระนายกอง เป็นชาวมอญอาสาสมัครพม่า คุมกำลังประมาณ 3,000 คนคอยริบทรัพย์สิน คนไทยที่หลบหนีพม่า และคนไทยที่กระด้างกระเดื่องแข็งข้อ ตั้งค่ายอยู่ที่ โพธิ์สามต้น ข้างเหนือกรุงศรีอยุธยา

1.2 กลุ่มนายทองอิน ซึ่งเป็นคนไทยที่ไปเข้ากับพม่า ควบคุมอยู่ที่ เมืองธนบุรี ทำหน้าที่กวาดต้อนผู้คน และเก็บทรัพย์สมบัติส่งไปพม่า

2. ชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก ( เรือง ) เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พ.ศ. 2310 เจ้าพระยาพิษณุโลกได้คุมกองทัพเมืองพิษณุโลกมาช่วยป้องกันกรุงศรีอยุธยา ขณะที่ยกพลขึ้นไปรบกับพม่าที่สุโขทัย ถูกหลวงโกษาและเจ้าฟ้าจีดเข้าริบทรัพย์สมบัติและยึดเอาเมืองพิษณุโลกไว้ เจ้าพระยาพิษณุโลกเมื่อทราบ จึงยกกองทัพมาตีเอาเมืองคืน จับเจ้าฟ้าจีดถ่วงน้ำ แล้วตั้งมั่นอยู่ที่ เมืองพิษณุโลก จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก มีอาณาเขตแถวพิชัย พิษณุโลกจนถึงนครสวรรค์ เจ้าพระยาพิษณุโลกมีกำลังไพร่พลมาก อีกทั้งมีความสามารถในการรบ เป็นความหวังของคนไทยฝ่ายเหนือว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมในการกู้บ้านเมือง จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็งมาก