9. พงศาวดารพม่ามิได้กล่าวถึงการตีค่ายที่ทางกรุงศรีอยุธยาส่งออกไปวางกำลังเป็นกองระวังป้องกันไว้รอบๆ พระนครเลย แต่หลักฐานทางไทยและมีหลักฐานอื่นได้กล่าวไว้ พม่าต้องเสียทั้งกำลังคนและเวลาในการเข้าตีค่ายต่างๆ ดังกล่าว พม่าใช้เวลา 9 คืนในการตีค่ายวัดไชยวัฒนาราม และใช้เวลาอีก 15 คืนในการตีค่ายจีนคลองสวนพลู

ค่ายที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นค่ายที่ตั้งอยู่ในตำบลวิกฤต ค่ายถูกยึดได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย
ค่ายที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของพระนคร พม่ายึดได้ประมาณครึ่งเดือนหลังของเดือนมีนาคม
ค่ายที่อยู่ทางทิศตะวันตก เชื่อว่าพม่ายึดได้ก่อนยึดค่ายทางทิศใต้เล็กน้อย

10. พงศาวดารพม่ากล่าวต่อไปว่า หลังจากที่ทัพของพระมหามนตรีพ่ายกลับเข้ามาในพระนครแล้ว พระเจ้าแผ่นดินศรีอยุธยาทรงโปรดให้เอาปืนใหญ่ชื่อทวาราวดี ( ปืนปราบหงสา ตามพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ) ซึ่งเป็นปืนรักษาพระนครมาแต่โบราณ เป็นปืนศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่ามีเทวดารักษาพระนครสิงสถิตย์อยู่ ออกมาให้ประชาชนทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้ และชักขึ้นป้อม (ป้อมมหาชัย วัดศรีโพธิ์, อาทร จันทวิมล, 2546 : 229 ) ยิงค่ายเนเมียวสีหบดีเพื่อเอาเคล็ด แต่ปรา-กฎว่าดินปืนไม่ติดเพราะถูกความชื้นของน้ำที่ไหลเข้ามาทางรอยรั่วทางตัวกระบอกปืน ปืนกระบอกนี้มิใช่ปืนประจำป้อมหรือประจำการ ด้วยความที่เก่าด้วยอายุใช้งานและขาดการบำรุงรักษามาก่อน เมื่อนำมาใช้ใหม่ก็อาจเกิดขัดข้องขึ้นได้

ส่วนพระยาศรีสุริยพาหะเอาปืนใหญ่ชื่อ มหากาฬมฤตยูราช ประจุดินปืนสองเท่า ตั้งบนป้อมท้ายกบ ยิงพม่าที่ภูเขาทอง แต่ยิงไปเพียงนัดเดียวปืนก็ร้าวใช้การไม่ได้ (อาทร จันทวิมล, 2546 : 229)

11. พงศาวดารพม่าอ้างถึงสภาพความอดอยากยากแค้นของไทยถึงขนาดต้องปันส่วนข้าวสาร 1 ทะนานต่อคน 20 คน (1 ทะนานเท่ากับ 1 ลิตร) มีประชาชนไม่น้อยที่ยอมให้พม่าจับ เป็นการยืนยันให้เห็นว่า พม่าใช้วิธีให้ยอมจำนนด้วยความอดอยากเป็นหลัก

12. พงศาวดารพม่ากล่าวต่อไปว่า พอพม่าเข้าเมืองได้ก็จุดไฟเผาบ้านเรือน กระจายกำลังกันปล้นสะดมตามความพอใจ (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 186-190)