อนึ่ง พงศาวดารฉบับหอแก้ว ได้บันทึกถึงเรื่อง เชลยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า หลังสงครามคราวนี้ว่า “ ...พระบรมวงศานุวงศ์แต่ราชสำนักอยุธยาซึ่งถูกกุมตัวมายังกรุงรัตนปุระอังวะครั้งนั้น มีเหล่ามเหสี พระกษิฐาภคินี พระเชษฐภคินี พระราชธิดา พระราชนัดดา แลพระภาคิไนยที่เป็นสตรี (พระเจ้ากรุงอังวะ) โปรดให้ประทับในเขตพระราชฐานพรั่งพร้อมด้วยเหล่าบริวารตามฐานันดรศักดิ์ เจ้านายแต่ละพระองค์จะมีพนักงานถวายการดูแล ข้างพระอนุชา พระราชโอรส พระราชนัดดา และพระภาคิไนยที่เป็นบุรุษ ก็โปรดให้ประทับนอกเขตพระราชฐาน แต่ก็จัดการให้ได้รับการถวายการดูแลโดยควรมิได้ยิ่งหย่อน เหล่าขุนนางกรุงศรีอยุธยา แลไพร่บ้านพลเมืองที่ถูกกวาดต้อนต่างก็ได้รับพระราชทานถิ่นที่พักอาศัย ในบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มีพระองค์หนึ่งนาม “ เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ” (Kyauk-bwa Tauk-to) (คือพระนามเดิมของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร อ่านรายละเอียดในบทที่ 2) ซึ่งทรงอยู่ในสมณเพศในคราวที่ถูกกวาดต้อนมายังพระนครอังวะ เจ้านายพระองค์นี้ทรงครองผ้ากาสาวพัตรตราบจนเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 2339 ภายหลังจากที่พระนครย้ายจากกรุงอังวะมายังอมรปุระ (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 112)

กรุงศรีอยุธยาอันบรมกษัตราธิราช ได้ทรงครอบครองสืบกันมา 33 พระองค์ ดำรงศักดิ์เป็นราชธานีของสยามประเทศตลอดเวลา 417 ปี ก็ถึงซึ่งพินาศด้วยภัยพิบัติดังกล่าวแล้ว ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 185 - 186)

5.3 เหตุใดพม่าจึงรีบถอนทัพกลับไปกรุงอังวะ เมืองพม่า ?
เหตุที่พม่ายกทัพรีบกลับกรุงอังวะ
เนื่องจากเนเมียวสีหบดีได้รับคำสั่งให้กลับกรุงอังวะ เพราะพระเจ้าแผ่นดินพม่าถูกคุกคามโดยกองทัพจีนที่ได้บุกรุกหัวเมืองชายแดน กองทัพพม่าก็เดินทางกลับอย่างรวดเร็วถึงกรุงอังวะในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2310 พงศาวดารหอแก้วเล่าต่อไปถึงการรุกรานดินแดนของพม่าของกองทัพจีนในระยะ 2-3 ปี ภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ.2310 กองทัพพม่าต้องสาละวนอยู่กับการขับไล่กองทัพจีนที่รุกรานดินแดนของตน ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดระหว่างพ่อค้าจีน กับเจ้าหน้าที่พม่าตามหัวเมืองชายแดนระหว่างจีนกับพม่า

พงศาวดาร หอแก้วกล่าวว่า กองทัพจีนบุกรุกพม่าสี่ครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง เป็นเหตุให้พระเจ้าสินปยูชิน ( พระเจ้ามังระ ) ไม่สามารถเสด็จยกทัพมาตีเมืองไทยด้วยพระองค์เองได้ ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงทราบว่าได้มีความพยายามที่จะตั้งราชวงศ์ใหม่และโค่นอำนาจของพม่า ข้อที่ควรสังเกตคือข้อความนี้ก็สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดในกรุงธนบุรี สมเด็จ พระเจ้าตากสิน มหาราช ทรงกู้อิสรภาพของไทยได้ภายในเวลา 7 เดือน และทรงย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้งที่กรุงธนบุรี พ.ศ.2310 ( รอง ศยามานนท์ , ในแถลงงานประวัติศาสตร์ เอกสาร โบราณคดี ปีที่ 18 เล่ม 1 มกราคม 2527 – ธันวาคม 2527 : 39 - 46)