5.1 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อไหร่ ?
ครั้นถึงวันอังคารเดือน 5 ขึ้น 9 ค่ำ ปีกุน ( นพศก จ.ศ.1129) ตรงกับ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 เป็นวันเนาว์สงกรานต์เพลาบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกๆ ค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เพลาค่ำ 8 นาฬิกา แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารปีนปล้นพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน พวก ทหาร ไทยที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็เข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง นับเวลาตั้งแต่พม่ายกมาตั้งล้อมพระนครได้ 1 ปี กับ 2 เดือน จึงเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึก ( จรรยา ประชิตโรมรัน, 2536 : 169 )
พงศาวดารพม่าระบุว่าทัพพม่าตีเข้าพระนครศรีอยุธยาได้ในเวลาตี 4 กว่า ของวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือนเมษายน พุทธศักราช 2310 ตรงกับปี 1129 ของศักราชพม่า (สุเนตร ชุตินธรานนท์, 2541 : 68) โปรดสังเกตว่าวันที่กรุงศรีอยุธยาแตกตามหลักฐานของฝ่ายไทยและพม่าผิดกัน 3 วัน อาจเป็นเพราะการกำหนดเกณฑ์การตีความหมายว่าพม่าเข้ากำแพงเมืองได้หรือยึดวังหลวงได้ หรือมีการจดวันคลาดเคลื่อน (อาทร จันทวิมล, 2546 : 229)
คนทรยศ ตามคำให้การของชาวกรุงเก่า หน้า 174 บอกว่า มีคนไทยชื่อ พระยาพลเทพ ข้าราชการในกรุงศรีอยุธยาเอาใจออกห่าง ลอบส่งศาสตราวุธเสบียงอาหารให้แก่พม่า สัญญาว่าจะเปิดประตูคอยรับเมื่อพม่าเข้าโจมตี และประตูที่พระยาพลเทพ เปิดให้ก็เป็นประตูเมืองทางทิศตะวันออกเข้าใจว่าคงเป็นบริเวณหัวรอ หรือจะห่างจากบริเวณนี้ก็ไม่เท่าใด ซึ่งพม่าก็ได้ระดมเข้าตีปล้นกรุงศรีอยุธยามาทางนี้ตามที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ โดยเข้าไปได้ในเวลากลางคืน ส่วนวันตามคำบอกของชาวกรุงเก่านั้นตรงกับวันที่กรุงแตกดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่เชลยไทยได้เห็นในขณะนั้น
พงศาวดารหลายฉบับได้กล่าวไว้ว่า เมื่อกรุงใกล้จะแตก ไทยได้เกิดมุมานะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง รบจนพม่าแตกกลับไปทุกครั้ง จนพม่าต้องตั้งล้อมนิ่งอยู่คราวหนึ่ง และเมื่อเวลากรุงแตกนั้น คนไทยที่สู้รบตายคาแผ่นดินอยู่บนกำแพงเมือง และตามที่ต่างๆ คงจะเห็นการกระทำของพระยาพลเทพได้เป็นอย่างดีน่าเสียดายที่ภายหลังต่อมา เราไม่ทราบชะตากรรมของพระยาผู้ทรยศต่อชาติคนนี้ ( จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 171 )
|