รัชกาลของพระเจ้ามังระนั้นเริ่มรัชกาลด้วยการปราบกบฏในแว่นแคว้นต่างๆ อยู่เสมอมา การแทรกแซงของอยุธยา ในเขตอิทธิพลตามประเพณีของราชวงศ์อลองพญาจึงเป็นการส่งเสริม การกบฏของแว่นแคว้นต่างๆ ในพม่าไปโดยปริยาย ด้วยเหตุดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ พระเจ้ามังระจะต้องลดอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ลง จุดมุ่งหมายของการสงครามในครั้งนี้จึงไม่ใช่การขยายพระบรมเดชานุภาพมาเอาเมืองอยุธยาเป็นเมืองออก แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงคือ การทำให้ราชอาณาจักรอยุธยาแตกสลายลง หรืออ่อนแอลงขนาดที่จะไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่หัวเมืองขึ้นของพม่าได้อีก ตามความเข้าใจของชาวกรุงเก่า การรับตัวหุยตองจาไว้โดยไม่ได้ส่งตัวให้แก่พม่าเมื่อได้รับคำขอนี้คือ สาเหตุสงคราม ในครั้งสุดท้ายนี้ (คำให้การชาวกรุงเก่า, 2510 : 167) ซึ่งก็ไม่ผิดความจริงนัก เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าทั้งระบบ

กองทัพพม่าที่ยกเข้ามาตั้งแต่ พ.ศ. 2307 นี้ ไม่มีกษัตริย์เป็นแม่ทัพ และด้วยเหตุดังนั้นจึงมักทุกเหยียดว่าไม่ใช่ทัพกษัตริย์ แต่ทัพกษัตริย์คืออะไรดูไม่มีความหมายแน่นอนนัก

ความคิดที่จะตีอยุธยาของพระเจ้ามังระอาจมีนับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในพ.ศ. 2306 พระองค์ได้โดยเสด็จมาในกองทัพของพระราชบิดาเมื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ.2303 เมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติก็ได้ตระเตรียมงานด้านการบริหารราชอาณาจักรไว้อย่างดี เพื่อทำให้สามารถทำสงครามได้หลายด้านและหลายครั้งในรัชกาล ประสบการณ์การรบในประเทศไทยทำให้ทรงรู้จุดอ่อนของราชอาณาจักรอยุธยาพอสมควร และทำให้ได้เตรียมการอันจำเป็นสำหรับการเอาชัยชนะเหนืออยุธยาในเวลาต่อมา ...

การที่พระเจ้ามังระมิได้เสด็จยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเองนั้นก็เนื่องจากภารกิจด้านอื่น และหากจะประเมินภยันตรายที่คุกคามพม่าระหว่างอยุธยาและมณีปุระแล้ว จะเห็นได้ว่ามณีปุระคุกคามพม่าด้วยอาวุธของทหารม้า ในขณะที่อยุธยาเพียงแต่คุกคามด้วยการแผ่บารมีเหนือหัวเมืองขึ้นชายแดน ส่วนจุดมุ่งหมายของกองทัพที่พระเจ้ามังระโปรดให้ยกมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น พระราชพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคราวที่พระเจ้ามังระ ได้รับข่าวจากเนเมียวสีหบดีว่าจะตีอยุธยาได้อยู่แล้วว่า เมื่อได้อยุธยาแล้ว ให้ทำลายเมืองจนย่อยยับแล้วจับพระเจ้าแผ่นดินกับพระบรมวงศานุวงศ์ส่งไปเมืองพม่าให้หมด

แผนการของพม่าในการพิชิตกรุงศรีอยุธยาก็คือการส่งทัพมากระหนาบกรุงศรีอยุธยา สองทางทั้งจากทางใต้และทางเหนือ พระเจ้ามังระทรงดำริว่าอยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งเพราะไม่เคยถูกศึกสงครามบั่นทอนมานาน จะส่งแต่ทัพทางเหนืออันมีเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพเพียงด้านเดียวก็จะไม่เพียงพอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพมาทางใต้อีกด้านหนึ่งด้วย