มังอองไจยะได้เป็นกำนันของหมู่บ้านชเวโบ หรือมุคโชโบ แปลว่า บ้านนายพราน หรือมุคไชโบ ( พม่าเรียกมอคโชโบ ต่อมาเป็นเมืองชื่อรัตนสิงห์ ) ห่างจากเมืองอังวะประมาณ 2,000 เส้น (97.53 กิโลเมตร) มีพลเมืองประมาณ 200 ครอบครัว เล่ากันว่า มังอองไจยะ เป็นผู้มีฝีมือเข้มเข็ง และใจคอกล้าหาญ รู้เวทมนต์คาถาและตำรับพิชัยสงคราม มีผู้คนเคารพเชื่อฟังมาก พอมอญเป็นใหญ่ขึ้นในกรุงอังวะก็ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บส่วยสาอากรตามปกติ มังอองใจยะก็รวบรวมลูกน้องเพื่อนฝูงเข้าต่อสู้ฆ่ามอญตายหมด มอญยกมาปราบกี่ครั้งก็พ่ายแพ้ไปสิ้น (เชาว์ รูปเทวินทร์, 2528 : 638)
เมื่อ พ.ศ. 2257 มังอองไจยะเริ่มต่อต้านมอญ โดยรวบรวมพรรคพวกได้ประมาณ 40 คน ปล้นกองมอญที่มาเก็บส่วย (จรรยา ประชิตโรมรัน , 2536 : 4) ตั้งแต่ พ.ศ. 2295 เป็นต้นมา มังออง-ไจยะได้สร้างวีรกรรมในการรบชนะมอญมากขึ้น ดึงดูดให้ชาวพม่าเริ่มเข้ามาสมทบมากเข้า ในปี พ.ศ. 2296 เดือนอ้าย มังอองไจยะตีได้เมืองอังวะ ในเวลา 3 ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2298 มังอองไจยะได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์พม่านามว่า อลองมินตยาคยี (ชูสิริ จามรมาน , 2527 : 61) และทรงยึดเมืองดากอน ซึ่งอยู่ใกล้ทะเลได้จากพวกเตลง ( มอญ ) และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นร่างกุ้ง และทรงตั้ง เมืองรัตนสิงห์ (หรือที่ไทยเรียกว่า กรุงรัตนปุระอังวะ) เป็นราชธานี และภายในเวลา 2 ปี ก็ทรงปราบปรามบ้านเมืองทางเหนือ เช่น พะสิม สิเรียม จนมายึดได้กรุงหงสาวดี (พ.ศ.2300) รายละเอียดดังนี้
พระเจ้าหงสาวดีเกรงขามพระเจ้าอลองพญาจึงยอมส่งพระราชธิดาชื่อ เม้ยคุ้ม ซึ่งเป็นคู่หมั้นของสมิงตะละปั้นมาก่อนถวายอลองพญา สมิงตะละปั้นโทมนัส จึงพาพวกพ้องออกจากเมืองหงสาวดีไป ส่วนอลองพญาเมื่อได้ราชธิดาแล้วก็เรียกร้องนายทหารตัวสำคัญๆ ของมอญมาไว้เป็นตัวจำนำ พระเจ้าหงสาวดีไม่ยอมให้ พระเจ้าอลองพญาทรงขัดเคืองมาก จึงเกิดสงครามอีก ในที่สุดหงสาวดีก็แตกในปี พ.ศ.2300 อลองพญาให้เผาทั้งเมือง หลังจากเผาหงสาวดีแล้ว ทรงกวาดต้อนคนมอญขึ้นไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก เอาตัวไปไว้ที่เมืองอังวะ (รัตนสิงห์) ตั้งแต่นั้นชาติมอญก็ล้มถูกชาติพม่ากลืนหมด เป็นอันว่าเอกราชของมอญครั้งสุดท้ายมีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น ( http://www.worldbuddhism.net/buddhism-history/Burma.html , 14/7/2547)
|