ในพ.ศ. 2307 พระเจ้ามังระทรงยกทัพไปตีเมืองมณีปุระและยึดครองได้ในเดือนธันวาคม ปีต่อมาทรงนำประชาชนติดตามกลับกับกองทัพไปยัง เมืองอังวะ ซึ่งทรงสถาปนาเป็นเมืองหลวงใหม่ โดยทรงย้ายเข้าเมืองในปีพ.ศ. 2308 ประตูเมืองอังวะที่ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่นั้นทรงให้ชื่อเมืองประเทศต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่ มะตะบัน โมกอง เป็นชื่อประตูทางด้านตะวันออก ประตูทางใต้มีแกงมา หรรษวดีหรือหงสาวดี ออนยอง ( ปัจจุบันคือสีป่อ ) ประตูทางทิศตะวันตกมีเวียงจันทน์ ล้านช้าง และเชียงตุง ประตูทางทิศเหนือมี ตะนาวศรี และอยุธยา การแบ่งที่อยู่ในเมือง แบ่งตามเชื้อชาติ มีพ่อค้าอินเดียทางหนึ่ง จีนอีกแห่งหนึ่ง พวกนับถือคริสเตียนแถบหนึ่ง และอีกส่วนก็มีเชลยที่จับไปจากเมืองไทย และมณีปุระ พระราชวังก็มีสภาพ ประดุจเมือง ชั้นในมีกำแพง มีป้อม มีคูล้อม ทรงมีพระราโชบาย แผ่พระเดชานุภาพ สร้างจักรวรรดิให้ เหมือนกับ พระเจ้าบุเรงนอง คือจะต้องตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้ ด้วยเหตุนี้หนังสือประวัติศาสตร์ของ หม่องตินอ่องมีข้อความว่า “… วัตถุประสงค์ของมังระที่จะปราบกรุงศรีอยุธยาย่อมเป็นที่รู้อยู่ดีแล้วสำหรับคนไทย ซึ่งจะสงบเงียบเสียไม่ได้ เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระองค์ขึ้นครองราชสมบัติพม่า …”

แต่หนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม (2543 : 32) กล่าวถึงเป้าหมายของพม่าเพื่อทำลายอยุธยาให้แหลกสลายว่า สมเด็จพระเจ้ามังระได้ดำเนินการปราบปรามกบฏ ตามแว่นแคว้นต่างๆ ของพม่า และทรงตระหนักว่า การแทรกแซงของกรุงศรีอยุธยา ( ต่อเขตอิทธิพลตามประเพณีของราชวงศ์อลองพญา ) เป็นการส่งเสริมกบฏ ของแว่นแคว้นต่างๆ ของพม่าไปโดยปริยาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะ ต้องทำให้ราชอาณาจักรอยุธยาแตกสลายลง จนไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงแก่เมืองขึ้นของพม่าได้อีกต่อไป

วิเศษไชยศรี (2541 : 250) ได้เขียนเกี่ยวกับเหตุผลในการตีกรุงศรีอยุธยาในเรื่องไทยไทย : ไทยเสียกรุงว่า สาเหตุหนึ่งที่พระเจ้ามังระรุกรานอยุธยา เพราะอยุธยาบิดพริ้วที่จะส่งเครื่องบรรณาการให้แก่พระเจ้าอลองพญาตามที่สัญญาไว้

หลักฐานนี้ได้มาจากจดหมายเหตุของบาทหลวงผู้เข้ามาพำนักอยู่ในกรุงอังวะและร่างกุ้งในรัชกาลของพระเจ้าปดุง (ปีพ.ศ.2326-49) และหลักฐานนี้สอดคล้องต้องกันกับพงศาวดารราชวงศ์คองบองที่ระบุว่า เมื่อพระเจ้าอลองพญายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ทางฝ่ายไทยดำเนินนโยบายถ่วงเวลาเพื่อให้กองทัพพม่าต้องผจญกับฤดูน้ำเหนือหลาก ด้วยการส่งทูตออกไปยังกองทัพพม่า แสร้งทำทีท่าว่าจะอ่อนน้อมยอมแพ้และส่งเครื่องบรรณาการขึ้นต่อพม่า