3.3 พระเจ้ามังระ กษัตริย์พม่า มีเหตุผลอย่างไรที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยา ?
ใน พ.ศ. 2306 พระเจ้ามังระ หรือพระเจ้าสินปยูชิน (Hsinbyushin) หรือศิริธรรมราชา ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2 ของพระเจ้าอลองพญาได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระเจ้ามังลอก พระเชษฐา ระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่นิยมการศึกสงคราม

กระบวนทัพพม่า : วิชะกะพยุหะ ตั้งเป็นริ้วกระบวนรูปก้ามแมงป่อง
(ภาพจากหนังสือพม่ารบไทย : ว่าด้วยการสงครามระหว่างไทยกับพม่า)
เมื่อพระเจ้ามังระได้ราชสมบัติในเดือนธันวาคม พ.ศ.2306 ยังรอราชพิธีราชาภิเษกอยู่ ได้ทรงวางแผนการที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยาแต่ครั้งนั้นแล้ว ทรงตั้ง อภัยคามินี เป็น เนเมียวสีหบดี ให้เป็นผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ให้ระดมกำลังชายฉกรรจ์ ในเขตแคว้นไทยล้านนา และล้านช้างเข้าเป็นกองทัพโดยมีจุดมุ่งหมายจะมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา เนเมียวสีหบดีถวายบังคมลาจากกรุงรัตนสิงห์ แต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2306 ด้วยไพร่พลในชั้นแรกจำนวน 20,000 มีช้าง 100 เชือก ม้า 1,000 ตัว แล้วพระองค์ทรงแต่ตั้งแม่ทัพพม่าอีกท่านหนึ่งชื่อ มหานรธา ให้คุมทัพจำนวนเท่ากับเนเมียวสีหบดี ลงมาตีเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรีแล้วให้เข้ามาทางเมืองราชบุรี ตีเมืองเพชรบุรี ไชยา ชุมพร กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เมื่อได้เมืองเหล่านี้แล้วให้รอทัพอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี จนกว่าจะได้รับคำสั่งต่อไป

(ลักษณะการบัญชาให้ยกทัพรุกเข้ามาทั้ง 2 ทาง เป็นแบบคีมหนีบ ( pincer movement) นี้ พระเจ้ามังระแห่งอังวะทรงริเริ่มแผนยุทธการแบบนี้ก่อนฮิตเลอร์ ร่วม 200 ปี) (ขจร สุขพานิช, 2545 : 263)