แผนที่สังเขปการแสดงการรบที่โพธิ์สามต้น
(ภาพจากหนังสือการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 พ.ศ.2310)
กองทัพพม่าของพระเจ้าอลองพญาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2303 ซึ่งเป็นระยะต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งไม่ทรงชำนาญการรบเลย ก็ทรงได้แต่เรียกนายทหารที่เคยมีความสามารถ มารักษาพระนครศรีอยุธยา และส่งแม่ทัพซึ่งว่างเว้นจากสงครามมานานไปรับศึก จึงมิอาจต้านทานกำลังพม่าได้ ต้องถอยมาตั้งรับที่กรุงศรีอยุธยา ราษฎรและข้าราชการไทยกราบบังคมทูล ให้นิมนต์สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรซึ่งผนวชอยู่ ให้มาทรงบัญชาการทัพไทย ไทยจึงมีการต่อต้านดีขึ้น

การเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
(อยุธยา พ.ศ. 2303)
การเข้าตี
เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2303 ทหารพม่าประมาณ 2,000 คน ได้เคลื่อนที่ลงมายังท้ายคู ทั้งสองฟาก ( ที่เรียกว่าคูคือ แม่น้ำข้างใต้กรุงฯ ราวปากคลองตะเคียน ) ขณะนั้นพวกชาวเรือค้าขาย ถอยหนีลงไปจากข้างเหนือ ไปจอดรวมกันอยู่ที่ท้ายคูเป็นจำนวนมาก ทั้งเรือพระที่นั่ง เรือพระที่นั่งกราบ และเรือกระบวน ซึ่งเอาไว้ในโรงเรือข้างเหนือพระราชวัง ก็ถอยเอามารวมกันไว้ที่นั่นด้วย พม่าฆ่าฟันผู้คนทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่ล้มตายเป็นอันมาก แล้วเผาเรือที่ท้ายคูนั้นเสียหมด