ซึ่งสอดคล้องกับหนังสืออยุธยา (2546 : 317 ) ที่กล่าวว่า ถนนในพระนคร ส่วนใหญ่เป็นถนนที่อัดด้วยดิน ใช้ช้างและแรงงานคนในการก่อสร้าง ซึ่งมักเป็นถนนคู่ขนานไปกับคูคลอง และมีบางสายที่ปูด้วยอิฐ อาทิเช่น ถนนหลวงชื่อ มหารัฐยา เป็นถนนกลางพระนครปูศิลาแลงกว้างราว 12 เมตร เชื่อมระหว่างพระราชวังโบราณกับประตูไชยทางทิศใต้ เป็นถนนที่ใช้ในงานหลวง เช่น กระบวนแห่พยุหยาตรา แห่กฐินหลวง แห่พระบรมศพ คณะทูตเข้าถวายพระราชสาส์น ถนนที่ ดูทันสมัยและมีผู้คนคึกคักเป็นพิเศษคือ ถนนมัวร์ ซึ่งเป็นถนนที่ปูด้วยอิฐแบบก้างปลา ก่อสร้างด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รถม้าและรถลากแล่นได้โดยสะดวก บนถนนมัวร์มีย่านที่สำคัญ เช่น บ้านออกญาวิชาเยนทร์ บ้านหลวงรับราชทูต ย่านพราหมณ์ ย่านแขก ย่านชาวจีน ซึ่งเป็นที่ชุมนุมสินค้า และมีถนนหลายสายตัดผ่าน นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อถนนในพระนคร ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นเขตย่านร้านตลาดสินค้าด้วย

เช่น ถนนตะกั่วป่า ถนนป่าเกรียบ (ย่านขายพาน) ถนนบ้านขันเงิน ถนนย่านป่าหญ้า (ขายเครื่องเทศ เครื่องไทย) ถนนป่าชมภู (ขายผ้า) ถนนป่าไหม ถนนป่าเหล็ก ถนนป่าฟูก (ขายเครื่องนอน หมอนมุ้ง) ถนนป่าผ้าเขียว (ขายเสื้อกางเกง) ถนนย่านบ้านช่างทำเงิน ถนนย่านชีกุน (ขายดอกไม้เพลิง ขายสุรา) ถนนบ้านย่านกระชี (ทำพระพุทธรูปขาย) ถนนย่านขนมจีน (ขายขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ เครื่องจันอับ) ถนนย่านในไก่ (ขายสินค้าจากเมืองจีน) ถนนย่านป่าดินสอ ถนนบ้านแห (ขายแหหาปลา ขายเปลป่าน) ถนนย่านบ้านพราหมณ์ (ขายกระบุงตะกร้า) หากถนนเกิดชำรุดจะมีการรื้ออิฐส่วนที่แตกหักออกไป หรือหากเกิดน้ำท่วมถนน จะมีการปูซ้อนทับขึ้นไปด้วย ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ถนนบางแห่งมีการซ่อมแซมถึง 3-4 ครั้ง

ถนนภายในเกาะเมืองปัจจุบันนี้มีบางสายที่สร้างทับเส้นทางโบราณ เช่น ถนนอู่ทอง ที่สร้างทับกำแพงเมือง และบางส่วนของป้อมปราการยาว 12.4 กิโลเมตร ถนนโรจนะ เป็นถนนสายหลักของอยุธยาที่เชื่อมการคมนาคมจากภายนอกเกาะ

...มีสะพานไม้ หรือสะพานอิฐจำนวนมาก ซึ่งจากหลักฐานสมัยอยุธยาตอนปลายระบุว่ามีสะพานรวม 30 แห่ง ทำด้วยอิฐ และไม้อย่างละ 15 แห่ง (อยุธยา, 2546 : 318) เช่น สะพานป่าถ่าน สะพานชีกุน สะพานประตูจีน สะพานประตูเทพหมี สะพานช้าง สะพานสายโซ่