อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง แม้จะว่างเว้นจากสงครามกับต่างชาติรวมทั้งหมดกว่า 60 ปี แต่การกบฏระแวงไม่ไว้ใจในหมู่เครือญาติ อันเนื่องมาจากความแตกสามัคคีในระหว่างราชวงศ์และข้าราชการ ก็เป็นที่มาประการแรกของความเสื่อมของกรุงศรีอยุธยา

สรุปคือ ในสมัยการปกครองแผ่นดินของพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง เสถียรภาพทางการเมืองของอยุธยา ถูกบั่นทอนด้วยการแย่งชิงอำนาจระหว่างขุนนางกับกษัตริย์ ฐานของอำนาจของขุนนางในส่วนหัวเมือง เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาจึงได้ลดทอนอำนาจของหัวเมืองลงด้วยการลิดรอนและกดขี่ ตลอดจนออกกฎห้ามมิให้เจ้าเมืองติดต่อกันเอง เพื่อป้องกันมิให้เจ้าเมืองใดมีกำลังพอเพียง ที่จะเป็นกบฏ ต่อพระนครได้ การทำให้หัวเมืองไร้ประสิทธิภาพ เท่ากับอยุธยาได้ทำลายระบบป้องกันตนเองลง อยุธยาไม่สามารถเกณฑ์ทหารจากหัวเมืองที่อ่อนแอมารักษาพระนครได้ เมื่อพม่ายกทัพเข้าใกล้พระนคร กองทัพไทยไม่สามารถสกัดทัพพม่าไว้ให้พม่าห่างจากพระนคร คนส่วนใหญ่ขาดกำลังใจที่จะต่อสู้พม่า อย่างจริงจัง มีการหนีทัพและความวุ่นวายปั่นป่วนโกลาหลทั่วไป (ชูสิริ จามรมาน, 2527 : 56-58)

2. การตั้งอยู่ในความประมาท กล่าวคือตั้งแต่พระประมุขตลอดจนข้าราชการทั้งในกรุง และหัวเมืองตลอดจนราษฎรทั่วๆ ไป (ยกเว้นชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม) ล้วนตั้งอยู่ในความประมาท ราษฎรส่วนมากหาแต่ความสุขสบาย ส่วนตัวเสนาบดีไม่บำรุงรักษาป้องกันแผ่นดิน

การที่พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าทรงรบเพื่อรวบรวมหัวเมืองมอญ แล้วยกทัพข้าม แดนไทยติดตามมอญเข้ามาทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองไทยในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2302 เริ่มต้นด้วยการยึดครองเมืองมะริด ( เมืองท่าของอาณาจักรอยุธยา ) ทวาย ตะนาวศรีได้โดยปราศจากการต่อต้านจากฝ่ายไทย ก็ทรงยกทัพข้ามเขาและเลียบฝั่งทะเลตีได้เมืองกุย เมืองปราณ จนถึงเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และขึ้นเหนือมาทางสุพรรณบุรี จนมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ 2-3 เดือน ทางกรุงศรีอยุธยาก็มีการโต้ตอบน้อยมากเพราะตั้งอยู่ในความประมาทโดยแท้ เมื่อบ้านเมืองเว้นว่างจากสงครามภายนอกไปหลายสิบปี ก็คงจะ เพิกเฉยมิได้ทะนุบำรุงกองทัพ มิได้ฝึกทหารเพื่อไว้ใช้ในสงคราม ชายฉกรรจ์เองก็คงหมดความกระตือรือร้นในเชิงการเป็นทหาร