 |
ส่วนพงศาวดารหอแก้วของพม่ากล่าวตรงกับหลักฐานฝ่ายไทยคือ หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศน์นั้นได้ซุ่มซ่อนพระองค์อยู่ประมาณ สิบเอ็ดสิบสองวันก็เสด็จสวรรคต ( รอง ศยามานนท์ , 2527 : 43, จากหนังสือแถลงงานประวัติศาสตร์ ปีที่ 18 เล่ม 1, มกราคม 2527- ธันวาคม 2527) สมพร เทพสิทธา (2540 : 31) เขียนไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้เสด็จหนีพม่าไปซุกอยู่ในป่าละเมาะนอกเมือง และสวรรคตในที่ซ่อน พม่าตามไปพบเห็นเครื่องทรง และพระธำมรงค์ก็เอาพระศพมาให้ เนเมียวสีหบดีดู จึงให้เอาพระศพไปฝังไว้ สุกี้พระนายกองได้อัญเชิญพระบรมศพมาฝังไว้ที่โคกพระเมรุตรงหน้าวิหารศรีสรรเพชญ (แต่รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ (2537 : 18-20) กล่าวว่า ฝังไว้ที่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร) ภายหลังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดฯ ให้ขุดพระบรมศพขึ้นถวายพระเพลิง ( มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 162)
หมายเหตุ
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ ( สุริยาศอมรินทร์ ) หรือ สุริยามรินทร์ ที่เรียกกันเป็นสองอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชวิจารณ์ในเรื่องพระราชมณเฑียรในกรุงเก่าตอนหนึ่งว่า พระที่นั่งสุริยามรินทร์พึ่งออกชื่อเป็นครั้งแรกในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ลงมาจากลพบุรีขึ้นประดิษฐานไว้พระที่นั่งสุริยามรินทร์
ในเวลานั้นมีปราสาทสามองค์ คือวิหารสมเด็จสรรเพ็ชญ์ปราสาท เบญจรัตนมหาปราสาท สององค์แรกชื่อยังคงอยู่ ต้องเข้าใจว่าพระที่นั่งเบญจรัตนนั้นเองแปลงนามเป็น พระที่นั่งสุริยา มรินทร์ เพราะอยู่ริมน้ำ เชิญพระศพมาทางเรือก็ขึ้นตั้งที่นั้น ... คำที่เรียกว่า พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ พึ่งมาปรากฏภายหลังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ.. .การที่เปลี่ยนสุริยามรินทร์เป็นสุริยาศน์อัมรินทร์เห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐเปลี่ยน เพื่อให้คล้องกันทั้ง 3 พระที่นั่ง ภายหลังพระเจ้าเอกทัศน์ประทับอยู่ในพระที่นั่งองค์นี้ เมื่อขึ้นเสวยราชย์จึงเรียกขานในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ (ส. พลายน้อย, 2546 : 406-407)
2.6 กรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงแก่พม่าเป็นอย่างไร ?
ก่อนอื่นต้องหา สาเหตุที่กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาจะหมดกำลัง เสียก่อน เหตุที่กรุงศรีอยุธยา เสื่อมถอยหมดกำลังลงนั้น เกิดจากสาเหตุหลายประการคือ
1. ความอ่อนแอในระบบป้องกันตนเองของกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพวกราชวงศ์แตกแยก แก่งแย่งสมบัติ และแบ่งเป็นฝ่ายเป็นพวก เริ่มจากเมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2171-2173) ทรงแย่งราชสมบัติสมเด็จเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ ( พ.ศ.2163 ) ครั้งนั้นได้ฆ่าขุนนางเป็นจำนวนมาก |
|
|