3. สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ( หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ) ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่สมเด็จพระพันวษาน้อย ภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมขุนอนุรักษ์มนตรี ทรงเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ผู้ซึ่งได้สละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์ได้เพียง 3 เดือนเศษ

เจ้าฟ้าเอกทัศน์ได้กระทำพิธีราชาภิเษก เมื่อพระชนม์ 40 พรรษา ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ บรมราชามหากษัตริย์ บวรสุจริต ทศพิธธรรมเรศน์ เชษฐโลกนายก อุดมบรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา ราษฎรทั่วไปเรียกว่า  ขุนหลวงขี้เรื้อน เพราะเหตุที่พระองค์ทรงเป็นโรคกลากเกลื้อนหรือโรคผิวหนังประจำพระองค์ ทรงมีพระราชประวัติความประพฤติไม่ดีอยู่โดยมาก จึงไม่ทำให้ราษฎรเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

ต่อมาไม่นานกรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งออกผนวชอยู่ กับพระยาอภัยราชา และพระยาราชบุรี (พระยาเพชรบุรี- ส. พลายน้อย, 2546 : 150-153 กล่าวไว้ในหนังสือสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย) คบคิดกันจะเชิญพระเจ้าอุทุมพรกลับมาครองราชย์สมบัติดังเดิม และได้นำความไปกราบบังคมทูลหารือพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรๆ ได้นำความไปทูลพระเชษฐา ( สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ) ให้ทรงทราบ แต่พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร ทรงขอร้องอย่าให้มีการฆ่าฟันพวกที่คิดร้าย สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงให้เนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธ ไปเสียยังประเทศลังกา (คือซีลอน หรือศรีลังกาในปัจจุบัน) ส่วนข้าราชการที่ร่วมคิดกันให้จำขังไว้

นับแต่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ข้าราชการเกิดความระส่ำระสาย มีบางคนลาออกจากราชการ บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุไว้ในตอนนั้นว่า “... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน ( พระราชชายา ) ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้มีความผิดฐานกบถ ฆ่าคนตาย เอาไฟเผาบ้านเรือน จะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น (ตามพงศาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าเอกทัศน์ มีพระมเหสี 4 องค์ มีพระสนม 869 และมีพระญาติอีกกว่า 30 ( ขจร สุขพานิช, 2545 : 269) พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น …”