32) สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ( เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ กรมขุนพรพินิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ คนทั่วไปเรียกขุนหลวงหาวัด ) เสวยราชย์ พ.ศ. 2301 อยู่ประมาณ 2-3 เดือนเศษ ก็ถวายสิริราชสมบัติแด่พระเชษฐา
33) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ( กรมขุนอนุรักษ์มนตรี คนทั่วไปเรียกว่า ขุนหลวงขี้เรื้อน ทรงเป็นพระเชษฐา (พี่) เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ) ครองราชย์  พ.ศ. 2301-2310 บ้านเมืองเสื่อมโทรมอย่างหนัก พม่ามาตีได้กรุงศรีอยุธยา ในปีพ.ศ. 2310

( จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงสารประเสริฐ และฉบับกรมพระปรมานุชิตฯ เล่ม 1, 2504 : สารบัญ . และประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องของคนไทย - ปฏิวัติสามสมัย โดยประกอบ โชปราการ , สมบูรณ์ คนฉลาด และประยุทธ สิทธิพันธ์, ม.ป.ป. : 45-47 รวมทั้งหนังสือแถลงงานประวัติศาสตร์ ปีที่ 18 เล่มที่ 1, 2527 : 43-45 และทวน บุณยนิยม (2513 : 163-167)


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

2.5 กษัตริย์จากพระราชวงศ์บ้านพลูหลวง 3 พระองค์สุดท้ายมีพระราชประวัติอย่างไร
?

1. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
(พ.ศ. 2275 – 2301) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ 31 ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2275 สิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เกิดเหตุการณ์ชิงราชบัลลังก์โดยราชโอรสสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ คือ เจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ ได้สู้รบกับเจ้าฟ้ามหาอุปราช (เจ้าฟ้าพร หรือพระบัณฑูรน้อย พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเสืออีกพระองค์หนึ่ง) มีการฆ่าฟันกันเป็นเบือ มหาอุปราชทรงมีชัย ทรงกระทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างขนานใหญ่ โดยทรงให้นำเจ้าฟ้าทั้งสองไปสำเร็จโทษ แล้วมหาอุปราชขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (บางทีเรียก สมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์)

ในรัชกาลนี้มีการกำจัดข้าราชการวังหลวงยุคเดิม ซึ่งเป็นคนของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์เกือบทั้งหมด ทำให้กำลังทหารของกรุงศรีอยุธยาอ่อนแอ มีการส่งเสริมด้านการค้า อักษรศาสตร์และวัฒนธรรม มีการแต่งวรรณคดีเรื่อง อิเหนา กาพย์เห่เรือ ปุณโณวาทคำฉันท์ กลบทศิริวิบุลกิติ โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์