เพื่อขอกำลังกลับมาตีกองทัพไทย สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อระหว่าง ค.ศ.1771-1773 จนม่อเทียนซื่อส่งทูตเข้ามาขอเจรจาสงบศึก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ทรงคืนเมืองฮาเตียนให้ม่อเทียนซื่อ (พระยาราชาเศรษฐี ญวน) และเรียกพระยาราชาเศรษฐี (ตังเลี้ยง) กลับคืนกรุงธนบุรี พระยาพิพิธ หรือพระยาราชาเศรษฐี (จีนตังเลี้ยง) นี้เป็นผู้นำชุมชนแต้จิ๋วที่อาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์จักรี ก็โปรดให้พระยาราชาเศรษฐี (จีนตังเลี้ยง) กลับออกไปครองเมืองพุทไธมาศดังเก่า (พิมพ์ประไพ พิศาลกุล, 2541 : 98, 101-102, 155)

19.7 เจ้าพระยาจักรีแขก (หมุด)
เจ้าพระยาจักรีแขก เป็นบิดาของพระยาราชวังสัน (หวัง) ในสมัยธนบุรี มีบ้านอยู่ริมวัดหงส์รัตนาราม (สมัยธนบุรี เรียกว่า วัดหงษ์อาวาสวิหาร)

เจ้าพระยาจักรี (แขก) เดิมชื่อ มะหะหมุด เป็นเชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งครองเมืองพัทลุง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง

เจ้าพระยาจักรี (หมุด) ขึ้นมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศน์ (ขุนหลวงขี้เรื้อน-พระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์) มีตำแหน่งหลวงศักดิ์นายเวร หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ หลวงนายศักดิ์ ” ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการให้ไปเก็บส่วยสาอากร จากหัวเมืองภาคตะวันออก หลวงนายศักดิ์เก็บเงินจากพระยาจันทบุรี ได้ 300 ชั่ง (24,000 บาท) พอดีมีข่าวกรุงแตกจึงนำเงินไปฝังไว้ที่วัดจันทร์ ตกค่ำจึงแต่งจีนมาโห่ร้องทำทีปล้น แล้วบอกพระยาจันทบุรีว่า โจรปล้นเงินไปหมด พระยาจันทบุรีไม่เชื่อสั่งให้จับหลวงนายศักดิ์ ประจวบกับเจ้าตากยกกองทัพถึงจันทบุรี หลวงนายศักดิ์จึงหนีออกไปเฝ้าเพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน แต่เมื่อต่างเป็นมหาดเล็กกรุง และได้มอบ จีนพรรคพวกให้ 500 คน กับเงินส่วยสาอากร 300 ชั่ง ที่เก็บไว้นั้น ร่วมกันกับเจ้าตากตีเมืองจันทบุรีแตก หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เป็นผู้มีความชำนาญในการเดินเรือและการต่อเรือ และได้เป็นกำลังจัดสร้างเรือรบ ขึ้นที่จันทบุรี (จำนวน 100 ลำ) ในระยะเวลาอันสั้น เจ้าตากยกกองเรือเข้ากรุงศรีอยุธยาตีพม่าแตกพ่าย ไปด้วยระยะเวลาเพียง 7 เดือนตั้งแต่เสียกรุง

เมื่อเจ้าตากขึ้นครองราชย์แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงศักดิ์นายเวร (หมุด) เป็นพระยายมราช ว่าที่แม่ทัพเรือ และได้มีพระราชโองการให้ยกทัพเรือไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ก็ตีได้สำเร็จจึงโปรดฯ ตั้งให้เป็น “ เจ้าพระยาจักรี ศรีองครักษ์ ” ว่าที่ สมุหนายก นับเป็นเจ้าพระยาจักรีคนแรกในแผ่นดินกรุงธนบุรี คนทั้งหลายมักเรียกกันว่า “ เจ้าพระยาจักรีแขก หรือจักรีแขก ” เจ้าพระยาจักรี (แขก) ถึงแก่อสัญกรรม ในปีเถาะ พ.ศ. 2314 (จุลลดา ภักดีภูมินทร์, สกุลไทย 48(2480) : อังคาร 30 เมษายน 2545 : 32 และจุลลดา ภักดีภูมินทร์, สกุลไทย 50(2565) : อังคาร 16 ธันวาคม 2546)