“ไม่ขออยู่เป็นข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย ขอตายตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน” จึงโปรดฯ ให้นำตัวไปประหารชีวิต แสดงให้เห็นว่า พระยาพิชัยดาบหักมีความจงรักภักดีอย่างไม่เสื่อมคลายยิ่งด้วยชีวิตในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และคงจะเห็นว่าตัวของท่านเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เกรงว่านานไปจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าแผ่นดินใหม่ และจะหาความสุขได้ยาก ประกอบกับมีความเศร้าโศกอาลัยในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ อย่างมาก จึงได้กราบทูลว่าจะขอตายตามสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ด้วย พระยาพิชัยดาบหักเป็นต้นตระกูล “วิชัยขัธคะ, วิชัยลักขณา, ศรีศรากร, พิชัยกุล, ศิริปาลกะ, ดิฐานนท์ ฯลฯ ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 105)

19.5 พระยาท้ายน้ำ (พระเชียงเงิน)
เดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงเงิน หัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองระแหง เข้ามาสวามิภักดิ์พระยาตาก และร่วมรบตั้งแต่ครั้งตีฝ่าทัพพม่าออกมาจนถึงจันทบุรี พระเชียงเงินไม่มีชื่อเสียงในด้านการทัพเป็นพิเศษ และออกจะอ่อนแอในบางครั้งด้วยซ้ำ จนเกือบจะถูกประหารชีวิตไปแล้ว แต่ก็เป็นข้าราชการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ และเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่งที่โปรดให้มาเฝ้าเพื่อทรงสั่งสอน “วิธีการ” ต่อสู้ข้าศึก

หลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ในคราวที่ทรงต่อสู้เหล่าร้ายที่เมืองระยองนั้น พระเชียงเงินได้กลายเป็นที่ “ท้ายน้ำ” ไป แล้วเรียกในพระราชพงศาวดารว่า พระเชียงเงินท้ายน้ำ ครั้นเมื่อปราบเมืองเหนือได้เรียบร้อยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระท้ายน้ำผู้นี้รั้งเมืองสุโขทัย ท่านเป็นข้าราชการที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสูง (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถาน, 2546 : 51-52)

19.6 พระยาพิพิธราชา
ขุนพลคนสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในช่วงห้าหกปีแรก คือ เจ้าขรัวเหลียน จีนแต้จิ๋ว แซ่ตั้งหรือที่มักเรียกกันในภาษาไทยว่า ตังเลี้ยง เมื่อแรกเข้ามาสวามิภักดิ์ได้รับตำแหน่ง ขุนพิพิธวาที แต่ด้วยความสามารถ และความกว้างขวางในหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก จึงได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ก็ได้เป็น พระยาพิพิธราชา หนึ่งในแม่ทัพผู้ยกทัพเข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น ฐานกำลังของพม่าที่รักษากรุงศรีอยุธยา นิธิ เอียวศรีวงศ์ เชื่อว่าพระยาพิพิธท่านนี้เป็นโกษาธิบดีผู้มีหน้าที่ดูแลงานพระคลังคนแรกของรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระยาพิพิธ หรือ พระยาโกษาฯ ท่านนี้ดูจะเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเมืองจันทบูร (หรือจันทบุรี) เมืองท่าที่ใช้เป็นฐานสนับสนุนทางเศรษฐกิจให้กับกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในยุคเริ่มต้น เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพไปตีกัมพูชา และพุทไธมาศพร้อมกัน มีกองทัพพระยาพิพิธ (ตังเลี้ยง) ซึ่งมีพล 1,481 คน รวมอยู่ด้วย ต่อมาเมื่อทรงยึดเมืองพุทไธมาศ (หรือฮาเตียน) ได้แล้ว ทรงแต่งตั้งพระยาพิพิธเป็น พระยาราชาเศรษฐี แทนม่อเทียนซื่อๆ หนีไปพึ่งกษัตริย์ญวน